โกลบอลคอมแพ็ก และองค์การสหประชาชาติ ชี้ ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น ทำสิ่งมีชีวิตบนโลกเกือบล้านสายพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ แนะภาคธุรกิจทำความเข้าใจเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก แก้ปัญหาร่วมกันอย่างเร่งด่วน
วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (23 สิงหาคม 2564) สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์การสหประชาชาติ และ United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCC) จัดงาน “Race to Zero Heroes for Climate Action” การประชุมครั้งแรกของประเทศไทยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อยกระดับโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจสู่ระดับโลก
นายนพปฎล เดชอุดม เลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวเปิดงานว่า ตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการกล่าวถึงวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมากมาย ขณะที่องค์การสหประชาชาติได้มีการเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเร่งดำเนินการแก้ปัญหา
เพราะตอนนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความรุนแรงมากกว่าทุกช่วงที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเป็น 1.59 องศาบนภาคพื้นดิน แล้วก็ 0.88 องศาในมหาสมุทร ธารภูเขาน้ำแข็งเริ่มละลายหดหาย ทรัพยากรน้ำจืดได้รับผลกระทบจากการที่น้ำทะเลหนุนสูงขึ้น ทำลายความสมดุลทางระบบนิเวศวิทยา นอกจากนี้หลายประเทศฝนตกหนัก เกิดพายุ ขณะที่บางประเทศเกิดภัยแล้ง ไฟป่ารุนแรงด้วย
สิ่งมีชีวิตเกือบล้านเสี่ยงสูญพันธุ์
นายนพปฎล กล่าวต่อว่า สหประชาชาติได้ทำรายงานประเมินสภาพธรรมชาติโลกมาตลอดซึ่งชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังเสื่อมสภาพในอัตราความเร็วที่ไม่เคยพบมาก่อน ไม่ว่าจะบนพื้นดิน ในน้ำ หรือบนท้องฟ้า และได้ชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวพันกันระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์มากกว่า 5 แสน ถึง 1 ล้านสายพันธุ์ กำลังจะสูญพันธุ์ในช่วงอีกไม่กี่ศตวรรษต่อจากนี้ และจะถือเป็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ครั้งที่ 6 ในช่วง 500 ล้านปีที่ผ่านมา
อีกหนึ่งผลกระทบที่น่ากังวลคือสภาพความเป็นกรดในมหาสมุทร ทำให้เกิดปะการังฟอกขาวต่าง ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ เพราะว่าทั้งทะเลเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญอย่างมาก และเป็นอาหารของประชากรโลกทั้งหมด ถ้าหากมีความล่มสลายของความหลากหลายชีวภาพนี้จะทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงอย่างมากกับเราทุกคน เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่เห็นชัดเจนอยู่แล้วว่า โลกของเราจำเป็นต้องมาร่วมมือกันและพยายามดำเนินงานในลักษณะที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดเพื่อให้เราสามารถที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและดำเนินงานเพื่อให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้
ภาคธุรกิจต้องเข้าใจเป้าหมายระดับโลก
ทั้งนี้ เลขาธิการโกลบอลคอมแพ็ก กล่าวอีกว่า ภาคธุรกิจถือเป็นผู้เล่นหลัก หรือผู้มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โกลบอลคอมแพ็ค ได้ทำงานร่วมกันกับหน่วยงานธุรกิจต่าง ๆ เพื่อจะผลักดันให้พวกเขาก้าวเข้ามารับหน้าที่เป็นผู้นำในการแก้ไขและรับมือกับความท้าทายของภูมิอากาศโลก ด้วยการสร้างพันธะสัญญาร่วมกัน และการแบ่งปันองค์ความรู้ ซึ่งเป้าหมายต่อไป จะพยายามเร่งการดำเนินงานของเรา โดยภาคธุรกิจไทยทุกแห่งต้องมองเห็นเป้าหมายระดับโลกด้านสิ่งแวดล้อม ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ว่าตอนนี้โลกกำลังเกิดวิกฤตอย่างไรบ้าง ความรุนแรงเป็นอย่างไร รวมถึงทุกองค์กรจะต้องเข้าใจเป้าหมายต่าง ๆ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ความเป็นกลางของคาร์บอน (Carbon Neutrality) การบรรลุเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ (Science Based Target) ฯลฯ เพื่อนำไปสู่การตั้งเป้าหมายร่วมกัน และพิจารณาว่าภาคธุรกิจจะมีส่วนร่วมอย่างไรบ้างกับการดำเนินงานตามเป้าหมายระดับโลก
“ผมเชื่อว่าการต่อสู้และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อจากนี้ เราจะต้องใช้ความพยายามมากขึ้นกว่านี้อีก ต้องมีพันธกรณีที่แข็งแกร่งและมีการดำเนินงานที่เข้มข้นยิ่งกว่าเดิม”
เตรียมพร้อมประชุม COP26 พ.ย.นี้
ด้าน กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงาน สหประชาชาติ ประเทศไทย กล่าวว่า วิกฤตภาวะโลกร้อนมีแต่จะก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ จากการสำรวจช่วงต้นปี 2564 พบว่าร้อยละ 80 ของผู้นำภาคธุรกิจเริ่มมีความห่วงใยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น และเริ่มตระหนักถึงการมีส่วนร่วมจะบรรเทาผลกระทบในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง แต่ขณะเดียวกันก็พบด้วยว่าประมาณ 2 ใน 3 ของภาคธุรกิจเริ่มลดบทบทในเรื่องการพัฒนายั่งยืนเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงโรคระบาด ส่งผลให้มีการชะลอการลงทุนต่าง ๆ หลายเรื่อง จึงทำให้ธุรกิจไม่สามารถเติบโตได้ 100% และก็ส่งผลต่อการลงทุนนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้
“แต่เดิม การใช้งบประมาณในภาคสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นภาระทางเศรษฐกิจ แต่ยุคปัจจุบันธุรกิจทุกภาคส่วนต้องหันมาให้ความสนใจเรื่องนี้กันแล้ว ดิฉันขอยกตัวอย่างจากรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนสีเขียวจะส่งผลดีต่อธุรกิจ 2-7 เท่านี่คือเหตุผลสำคัญว่าเราควรจะสร้างสภาพแวดล้อมให้เป็นเศรษฐกิจสีเขียว นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่อไป”
อย่างไรก็ตามปีนี้จะมีการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ COP ที่ 26 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยผู้นำจาก 196 ประเทศทั่วโลกจะมาพบปะกันที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร และจะมีการประกาศเป้าหมายใหม่ร่วมกัน ซึ่ง UNFCCC จะเข้าไปสนับสนุนภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ในการฟื้นเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมกลับมา ภายใต้การดำเนิน Race to Zero โดยมีเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจไม่มองประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นทางเลือก แต่เป็นวาระสำคัญเร่งด่วนที่ต้องช่วยกันทำ ส่วนประเทศไทยจะเปลี่ยนเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืนอย่างไรได้บ้างให้มีความสามารถในการแข่งขันเพราะว่าประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.7% ในโลก และมีการปล่อยถึง 4 ตันต่อคน
ภาวะโลกร้อน ทำสิ่งมีชีวิตบนโลกเกือบล้าน เสี่ยงสูญพันธุ์ - ประชาชาติธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment