คณะกรรมการฯ ได้ทำการสำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่ 6 เขต จากกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากถึง 3,000 ราย และผู้นำชุมชนอีกกว่า 100 ราย ซึ่งผลการสำรวจความต้องการของประชาชนกว่า 70% พบว่า ไม่ต้องการให้พื้นที่ฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่ฟลัดเวย์อีกต่อไป
คณะกรรมการฯ จึงได้ทำการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำหลากจากทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ หากเป็นน้ำท่วมคาบ 100 ปี จะมีปริมาณน้ำประมาณ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หลากมายังพื้นที่ฝั่งตะวันออก และบางส่วนจะท่วมเข้าไปยังกรุงเทพฯ ชั้นใน (ภายในคันกั้นน้ำพระราชดำริ) สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท ดังเช่นปี 2529 หรือ 2554 ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงเสนอให้มีการสร้างคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ ความกว้าง 300 เมตร เพื่อระบายน้ำอย่างรวดเร็วในรูปแบบ Water highway จากปทุมธานี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ลงไปยังอ่าวไทย ซึ่งคลองนี้ ควรระบายน้ำได้ถึง 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเป็นอย่างน้อย
ประโยชน์ของคลองขนาดใหญ่นี้ ในยามฤดูน้ำหลากจะสามารถระบายน้ำอย่างรวดเร็วลงทะเลอ่าวไทย ในฤดูน้ำแล้ง สามารถนำน้ำที่เก็บกักไว้ ไปช่วยไล่น้ำเค็มในการผลิตน้ำประปาได้ หรือนำไปใช้ในพื้นที่การเกษตรได้ นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ ยังได้ออกแบบแนวคันคลอง กว้างออกไปข้างละ 100 เมตร เพื่อให้เป็นที่ลุ่มรับน้ำกรณีน้ำหลากเพิ่มมากขึ้น แต่ในช่วงฤดูแล้ง สามารถใช้เป็นคันคลองเป็นพื้นที่สวนสาธารณะ สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ การแข่งขันกีฬาทางน้ำ หรือใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตร และถัดจากแนวคันคลองทั้งสองฝั่ง ได้ออกแบบให้เป็นถนนกว้าง 6 เลน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการขนส่งสินค้าหรือการเดินทางอย่างรวดเร็วจากทางตอนเหนือลงใต้
จะเห็นได้ว่า การจัดทำคลองขนาดใหญ่ พร้อมกับแนวคันคลอง และถนน 6 เลน ตามที่คณะกรรมการฯ นำเสนอนี้ จะทำให้พื้นที่ฟลัดเวย์ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ได้ใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ระบายน้ำท่วม และน้ำหลากได้อย่างแท้จริง
คณะกรรมการฯ นำเสนอให้มีการดำเนินการเป็น 2 ระยะ ระยะแรก เสนอให้เจ้าของที่ดินในแนวฟลัดเวย์ ที่มีขนาดตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไป มีการขุดบ่อหน่วงน้ำ หรือ “แก้มลิง” อย่างน้อย 10% ของพื้นที่ เพื่อช่วยรองรับน้ำในช่วงฝนตกหนัก ก่อนจะระบายไปยังคลองสาธารณะ และในระยะต่อไป เป็นการดำเนินการจัดรูปที่ดิน โดยความร่วมมือของประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และนักลงทุน ในการดำเนินการขุดคลองขนาดใหญ่ตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น
คณะกรรมการฯ จะทำการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ 6 เขตในวันที่ 29 สิงหาคม 2564 หากแนวคิดการดำเนินการขุดคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ดังกล่าวข้างต้น ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่มากพอสมควร คณะกรรมการฯ จะนำเสนอแนวความคิดนี้ให้กับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการผลักดันให้มีผลในการดำเนินการเป็นรูปธรรมต่อไป
6 เขตกทม. เดินหน้า ประชาพิจารณ์ ขุดคลองใหญ่ ทำ Water Highway - ฐานเศรษฐกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment