ศบค.สั่งภาคเอกชนเตรียมพร้อมรับมือมาตรการการประเมินของกระทรวงสาธารณสุข ต้องปฏิบัติตาม “มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) ภายในเดือนกันยายนนี้ ทั้งจัดทำการประเมินและทดสอบระบบ ขณะที่ภาคประชาชนต้องให้ความร่วมมือตามมาตรการครอบจักรวาล เผยหญิงท้องเสียชีวิตรายวัน เหตุฉีดวัคซีนน้อยมาก
วันที่ 30 สิงหาคม 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการอธิบายการปรับมาตรการตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือคลายล็อกดาวน์ ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 กันยายน 2564 นี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ 29 จังหวัดสีแดงเข้ม (ดูกราฟิกท้ายข่าว)
คลิกอ่าน>>ราชกิจจาฯ ประกาศข้อกำหนดคลายล็อก 29 จว.สีแดงเข้ม มีผล 1 ก.ย.นี้
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 มีผู้ป่วยรายใหม่ 15,972 ราย หายป่วยแล้ว 975,101 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,161,200 ราย เสียชีวิตสะสม 11,305 ราย
ข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 หายป่วยแล้ว 1,002,527 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,190,063 ราย และเสียชีวิตสะสม 11,399 ราย
ยอดฉีดวัคซีนสะสมทะลุ 30 ล้านโดส
ส่วนผู้ขอรับการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 211,293 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 62,463 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 1,432 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 29 สิงหาคม 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 30,954,477 โดส
“เรื่องการฉีดวัคซันปลัดกระทรวงสาธารณสุขพูดทุกวัน ลงในรายละเอียดทุกจังหวัด ทุกเขต เพราะถือเป็นอาวุธสำคัญที่เราจะเอาชนะตัวของเชื้อโรคตัวนี้ได้” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว
อันดับไทยขยับรั้ง 29 ของโลก แซงปากีสถานแล้ว
สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 217,207,453 ราย อาการรุนแรง 113,529 ราย รักษาหายแล้ว 194,102,397 ราย และเสียชีวิต 4,514,945 ราย
ส่วนอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับ1. เป็นสหรัฐอเมริกา จำนวน 39,665,515 ราย 2. อินเดีย จำนวน 32,737,569 ราย 3. บราซิล จำนวน 20,741,815 ราย 4. รัสเซีย จำนวน 6,882,827 ราย 5. ฝรั่งเศส จำนวน 6,742,488 ราย ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 29 จำนวน 1,190,063 ราย
หญิงท้องเสียชีวิตรายวัน
นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับผู้เสียชีวิตวันนี้จำนวน 256 ราย เป็นชาย 137 ราย หญิง 119 ราย เป็นคนไทย 240 ราย เมียนมา 14 ราย อังกฤษ ไม่ระบุ 1 ราย โดยผู้เสียชีวิตยังอยู่ใน กทม.จำนวน 79 ราย กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 179 ราย คิดเป็น 70% และอายุน้อยกว่า 60 ปี แต่มีโรคเรื้อรัง 55 ราย คิดเป็น 21% รวมสองส่วนนี้คิดเป็น 91%
และวันนี้มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเสียชีวิตด้วย 1 ราย ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ยังคงฉีดวัคซีนน้อยอยู่มาก และวันนี้มีผู้เสียชีวิตที่บ้าน 1 ราย อยู่ระหว่างนำส่ง 1 ราย อยู่ใน กทม. (ตามตาราง)
สำหรับหญิงตั้งครรภ์เป้าหมายมีประมาณ 5 แสนคน ฉีดเข็มแรก ได้ 37,357 คน หรือคิดเป็น 7.5% ถือว่าต่ำมาก ส่วนเข็ม 2 ฉีดได้แค่ 3,533 ราย หรือ 0.7% เท่านั้น จึงมีการเสียชีวิตเป็นรายวัน ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 28 ส.ค. มีจำนวน 2,542 คน เป็นมารดาเสียชีวิต 68 ราย และทารก 24 ราย
ส่วนจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับหนึ่งยังเป็น กทม.จำนวน 3,771 ราย รวมยอดสะสม 275,587 ราย สมุทรปราการ 1,055 ราย สมุทรสาคร 966 ราย ราชบุรี 747 ราย ระอง 518 ราย นครราชสีมา 406 ราย อยุธยา 405 ราย บุรีรัมย์ 389 ราย และนนทบุรี 365 ราย ซึ่งลดลงมาจากเดิมมาก
สั่งภาคเอกชนจัดทำความปลอดภัยองค์กร
นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ต่อจากนี้คือเรื่องการให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมมาตรการภาครัฐ และแผนที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาและจัดสรรวัคซีน ยา เครื่องมือแพทย์ รพ.สนาม สถานพยาบาล และเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั้งส่วนบุคคล องค์กร ผู้ประกอบการแต่ละประเภท รับทราบและนำแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเตรียมความพร้อม และการปฏิบัติตนโดยเพิ่มความระมัดระวัง ในการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด ตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention for COVID-19) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด สำหรับการบังคับใช้ในอนาคต
“ข้อกำหนดข้อนี้พุ่งเป้าไปที่บุคคลที่เกี่ยวข้องจะได้ไปเตรียมความพร้อมกันขึ้นมา ซึ่งในนี้ก็จะมีผู้ประกอบการด้วย หรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ องค์กรหรือหน่วยงานก็ต้องมีการปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยสำหรับองค์กร” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว และว่า
ประเมินผล-ทดสอบระบบใน 1 เดือน
มาตรการดังกล่าวกำหนดให้ผู้ประกอบการ หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบขององค์กรหรือหน่วยงานตรวจสอบและกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตาม “มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรคของสถานที่ กิจการหรือกิจกรรมที่ได้อนุญาตให้เปิดดำเนินการได้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการบังคับใช้ในอนาคต ในการเปิดสถานที่และดำเนินการและกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างปลอดภัย ต่อเนื่อง และยั่งยืน โดยให้มีการประเมินผลภายใน 1 เดือน
“เดือนกันยายนนี้ จะเป็นเดือนที่มีการทดสอบระบบนี้ โดยทาง ศบค.มีข้อกำหนดขึ้นมาเลยว่า ต้องช่วยกัน ซึ่งในเดือนกันยายนจะเป็นเดือนที่สำคัญที่เราจะได้เห็นผลความร่วมไม้ร่วมมือกันและมาตรการที่จะเกิดขึ้นมา รายละเอียดจะมีในแต่ละกิจการ กิจกรรม”
“ซึ่งไม่จำเป็นต้องสั่งโดยกระทรวงสาธารณสุข ท่านคิดขึ้นมาเองก็ได้ แล้วให้กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดู ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโรงงาน เรื่องของ isolation เป็นต้น” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว และว่า
ตอนนี้ก็ต้องรอทางกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะต้องมีการออกข้อกำหนดต่าง ๆ รายละเอียด มาตรการออกมา ขอให้ท่านได้ติดตามข่าวอีกทีว่า แต่ละมาตรการจะออกมาอย่างไร ส่วนภาคประชาชนก็จะต้องตระหนักถึงการให้ความร่วมมือตามมาตรการครอบจักรวาล หรือ Universal Prevention for COVID-19 ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ภาคเอกชน ทั้งผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้า โรงงานต่างๆ ได้ออกมาให้ควาคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่า หากจะต้องมีการตรวจพนักงานด้วยชุดตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ แม้ว่าจะเป็นเรื่องดี แต่ก็จะผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนเพิ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มโรงงานจะกระทบหนักมาก โดยเฉพาะโรงงานที่มีพนักงานในระดับหลายพันคน ซึ่งเมื่อคำนวณออกมาเป็นค่าใช้จ่ายต่อสัปดาห์จะเยอะมาก เพราะฉนั้นรัฐจะต้องมีนโยบายที่จะสนับสนุนภาคเอกชนในส่วนนี้ด้วย เช่นมาตรการทางด้านภาษี เป็นต้น
ศบค. สั่งเอกชนจัดทำมาตรการความปลอดภัยองค์กร ขีดเส้นเสร็จใน 1 เดือน - ประชาชาติธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment