คลัง ชี้โควิดรอบ 3 ทำมาตรการฟื้นฟูระยะยาวสะดุด ครึ่งปีหลังเน้นกระตุ้นบริโภคระยะสั้นผ่าน “คนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้” ส่วนระยะยาวหนุนลงทุนภาครัฐ-เอกชน ปฎิรูปโครงสร้างภาษี “3R”
วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ “ดร.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) “คลังสมอง” ของมาตรการเยียวยาแห่งรัฐ” ในวารสาร BOT พระสยาม โดยเนื้อหาตอนหนึ่ง ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวถึงการเยียวยาเศรษฐกิจระยะสั้น ควบคู่ฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยระยะยาว ว่า หากไม่เกิดการระบาดระลอกที่ 2 และ 3 มาตรการของรัฐบาลตามที่วางแผนไว้จะมุ่งเป้าไปที่การกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ควบคู่ไปกับมาตรการยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจ ไทย เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และเพิ่มความสามารถในการทำมาตรการการคลังในระยะยาว แต่หลังการระบาดระลอก 3 มาตรการฟื้นฟูในระยะยาวอาจสะดุดไปบ้าง เพราะต้องแบ่งงบประมาณในส่วนนี้เพื่อมาบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน
“เมื่อมีการระบาดขึ้นมาอีก การดำเนินมาตรการเยียวยาก็จะเป็นทางเลือกแรก เพื่อประคับประคองการดำรงชีพของประชาชนเราก็หวังว่าจะไม่มีระลอกใหม่อีก เพื่อที่จากนี้ไปเราจะได้เดินหน้ามาตรการเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้เต็มที่ โดยมาตรการระยะต่อไปคงเน้นกระตุ้นการกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งมีทั้งที่เคยใช้แล้วเห็นผลอย่าง ‘คนละครึ่ง’ และมาตรการใหม่ เช่น ‘ยิ่งใช้ยิ่งได้’ เพื่อกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นอย่างรวดเร็ว”ผู้อำนวยการ สศค. กล่าว
สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาว มองว่า แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความท้าทายในเรื่องของการควบคุมการระบาดของโควิด 19 ที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดรวมถึงความสำเร็จในการกระจายการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ
หลังจากนั้นจงสร้างแรงจูงใจให้ภาคการผลิตหันมาพัฒนาสินค้าและบริการที่รองรับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป เหมาะสมกับสังคมหลังสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายบนฐานวิถีชีวิตใหม่ (new normal) สนับสนุนการลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เกิดสมดุลในการพึ่งพาระหว่างเม็ดเงินการท่องเที่ยวจากต่างชาติกับการใช้จ่ายภายในประเทศ
“นอกจากต้องแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า สศค. ก็ยังต้องมองไปข้างหน้า วิกฤตครั้งนี้ทำให้เห็นว่าช่วงที่เศรษฐกิจเดินไม่ได้หรือมีข้อจำกัด มาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะการบรรเทาผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่การจะมีภาระการคลัง โดยที่ฐานะการคลังยังมั่นคงอยู่ได้เราจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บและปฏิรูปโครงสร้างภาษีรวมถึงพัฒนาการบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยังยืนทางการคลังในการรองรับภาระรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”ผู้อำนวยการ สศค. ระบุ
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า การปฏิรูปภาษี (Reform) เป็นหนึ่งใน “3R” ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงทางการคลังในระยะปานกลางและระยะยาว ถัดมาคือ Reshape ได้ แก่ การจัดสรรงบประมาณลงทุน โดยเฉพาะโครงการที่ก่อให้เกิดการกระจายความเจริญไปยังภูมิภาค สนับสนุนโครงการที่ก่อให้เกิดการใช้จ่ายในระดับพื้นที่และปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และ Resilience ซึ่งได้แก่ การบริหารหนี้สาธารณะให้มีความเสี่ยงต่ำภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ดียิ่งขึ้น
คลัง เล็งปฏิรูปภาษีดูแลเศรษฐกิจระยะยาว โควิดทำมาตรการฟื้นฟูสะดุด - ประชาชาติธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment