- แพนด้ายักษ์ สัตว์การทูตขวัญใจเด็กๆ ได้ถูกถอดจากรายชื่อสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ หลังจากที่มีความพยายามอย่างจริงจังในการเพิ่มจำนวนแพนด้ายักษ์ในประเทศ
- แพนด้ายักษ์อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำแยงซี แต่การลุกล้ำพื้นที่จากการสร้างเมืองสมัยใหม่อย่างการสร้างเขื่อนเก็บน้ำ ถนน และสิ่งปลูกสร้าง ในช่วงปีที่ผ่านมาได้ทำลายธรรมชาติ และส่งผลให้แพนด้ายักษ์มีพื้นที่ในการอยู่อาศัยน้อยลง รวมถึงต้นไผ่อาหารหลักของแพนด้ายักษ์ก็น้อยลงตามไปด้วย
- ถึงแม้ว่าจะได้รับการถอดจากรายชื่อสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ แต่แพนด้ายักษ์ยังถือเป็นสัตว์ในกลุ่มเปราะบาง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าภาวะโลกร้อนอาจส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนประชากรของแพนด้ายักษ์หลังจากนี้
เมื่อพูดถึงสัตว์ที่เป็นตัวแทนของจีน คงหนีไม่พ้นแพนด้ายักษ์ ที่ไม่ใช่เพียงแค่เป็นขวัญใจเด็กๆ เท่านั้นแต่ยังคงเป็นตัวแทนทางการทูตที่สำคัญของประเทศจีน มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 ซึ่งเจ้าแพนด้ายักษ์นั้นเป็นสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการรุกล้ำพื้นที่ป่ารวมถึงอัตราการเกิดต่ำ ทำให้ประชากรแพนด้ายักษ์อยู่ในภาวะที่เสี่ยงสูญพันธุ์ ขณะที่ประเทศจีนได้พยายามอย่างจริงจังเพื่อที่จะเพิ่มจำนวนแพนด้ายักษ์ ล่าสุดความพยายามของจีนก็เห็นผล เมื่อประชากรของแพนด้ายักษ์ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและถูกถอดรายชื่อออกจากสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ได้สำเร็จ โดยจีนได้ประกาศว่า หลังจากความพยายามเป็นสิบๆ ปี แพนด้ายักษ์ ไม่ได้เป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์อีกต่อไป และมีจำนวนประชากรกว่า 1,800 อาศัยอยู่ในผืนป่า
ข่าวแนะนำ
หนทางในการอนุรักษ์ และเพิ่มจำนวนแพนด้านั้นไม่ง่าย เพราะนอกจากจะต้องอาศัยความร่วมมือในการอนุรักษ์พื้นป่าในประเทศอย่างจริงจังจากการรุกรานของชุมชนเมือง ที่กระทบต่อบริเวณที่อยู่อาศัยของแพนด้า จีนยังต้องเพิ่มจำนวนของต้นไผ่ ซึ่งเป็นอาหารหลักของเจ้าแพนด้ายักษ์ควบคู่กันไปด้วย
สภาพการเป็นอยู่ของสัตว์หายากและสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์อย่างแพนด้านั้นเอื้อต่อการอยู่รอดมากขึ้น หลังจากความพยายามในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและฟื้นฟูระบบนิเวศ ทำให้สัตว์หายากและเสี่ยงสูญพันธุ์อย่างแพนด้ายักษ์ ละมั่งทิเบต และกวางหมีลู่ ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น และในช่วงปลายปี 2020 ประชากรแพนด้ายักษ์ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,864 ตัว
ด้าน ชุย ซู่หง เจ้าหน้าที่จากกระทรวงระบบนิเวศและธรรมชาติของจีน ระบุว่า ความหลากหลายทางชีวภาพนั้นเป็นผลพวงมาจากความพยายามของจีนในการสร้างเขตสงวนธรรมชาติ โดยที่ดินอย่างน้อยร้อยละ 25 ของประเทศได้ถูกสร้างให้เป็นเขตคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อม
เมืองใหญ่รุกที่อยู่อาศัยแพนด้ายักษ์
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ระบุว่า แพนด้ายักษ์นั้นอาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำแยงซี แต่การเข้ามาของการสร้างเมืองสมัยใหม่อย่างการสร้างเขื่อนเก็บน้ำ ถนน และสิ่งปลูกสร้าง ในช่วงปีที่ผ่านมาได้ทำลายธรรมชาติ และส่งผลให้แพนด้ายักษ์มีพื้นที่ในการอยู่อาศัยน้อยลง รวมไปถึงมีต้นไผ่ ซึ่งเป็นอาหารหลักของแพนด้ายักษ์ก็น้อยลงตามไปด้วย
ซึ่งนอกจากการรักษาพื้นป่าอย่างจริงจังแล้ว การแบนการทำประมงบริเวณลุ่มน้ำยังเป็นอีกส่วนสำคัญในการเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์อีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันประเทศจีนได้เดินหน้าพัฒนากระบวนการตรวจสอบความหลากหลายทางชีวภาพและเพิ่มการร่วมมือระดับท้องถิ่นและนานาชาติในการอนุรักษ์สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์
อนุรักษ์ป่าไผ่ ผสมพันธุ์แบบปิด
ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ในหลายประเทศที่ได้รับแพนด้ายักษ์จากจีนได้ใช้การผสมพันธุ์แบบปิดเพื่อเพิ่มจำนวนแพนด้า แต่การผสมพันธุ์แบบปิดส่วนใหญ่นั้นมีเป้าหมายเพื่อปล่อยสัตว์คืนสู่ป่าตามธรรมชาติ แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถปล่อยแพนด้าที่ได้รับการผสมพันธุ์และเลี้ยงดูแบบปิดคืนสู่ป่าได้
ในปี 2007 เสียงเสียง แพนด้าที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบปิดที่ถูกปล่อยคืนสู่ป่าตัวแรก ได้ถูกแพนด้าป่าตัวผู้ทำร้ายจนตาย
แพนด้านั้นกินไม้ไผ่เป็นอาการถึงร้อยละ 99 นั่นหมายความว่าหากไม่มีไม้ไผ่พวกมันก็แทบจะไม่มีอาหารตกถึงท้องเลย ซึ่งในแต่ละวันแพนด้ายักษ์ต้องกินไม้ไผ่มากถึง 12 ถึง 38 กิโลกรัม เพื่อที่จะสร้างพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน ซึ่งที่อยู่อาศัยที่มีต้นไผ่อุดมสมบูรณ์นั้นจำเป็นต่อแพนด้ายักษ์ และเมื่อพื้นที่อยู่อาศัยหายไปได้ส่งผลกระทบให้จำนวนของแพนด้าลดลงเหลือเพียงราว 1,200 ตัว ในปี ค.ศ 1980
ด้าน จิเน็ตต์ เฮมลีย์ รองประธานอาวุโสของการอนุรักษ์สัตว์ป่าจาก WWF ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า ประเทศจีนนั้นลงทุนในการขยายและสร้างพื้นที่อนุรักษ์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของแพนด้าได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งถือเป็นตัวอย่างของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์อย่างแท้จริง
แต่อีกสิ่งที่น่ากังวลคือปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่มีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น จะส่งผลให้พื้นที่อยู่อาศัยของแพนด้ายักษ์ที่เต็มไปด้วยต้นไผ่หายไปถึงหนึ่งในสาม ในอีกราว 80 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจกระทบต่อความเป็นอยู่ของเจ้าแพนด้ายักษ์ที่ต้องพึ่งพาป่าไผ่เพื่อการอยู่รอด.
ผู้เขียน: นัฐชา กิจโมกข์ (Nattachar K.)
จีนทำสำเร็จ แพนด้ายักษ์ ตัวแทนการทูตพ้นวิกฤติสูญพันธุ์ - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment