การเสียชีวิตของปลัดอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ที่รักษาหายจากโควิดและกักตัวครบ 14 วันแล้ว แต่อยู่ๆก็เกิดมีอาการเหนื่อยหอบ เจอฝ้าในปอด แต่กลับตรวจไม่พบเชื้อ ปอดอักเสบรุนแรง ติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตในที่สุด
ซึ่งต่อมามีการพูดถึงภาวะปอดอักเสบแต่ไม่มีอาการ ที่มีชื่อเรียกหลากหลาย ทั้งวอล์กกิ้ง นิวโมเนีย (Walking Pneumonia) หรือบางทีก็เรียกว่า แฮปปี้ นิวมอเนีย (Happy Pneumonia) ซึ่งมีลักษณะเดียวกันคือ ผู้ป่วยไม่มีอาการ รู้สึกปกติดี แต่เมื่อมีอาการหมายถึงปอดถูกทำลายไปมากแล้ว บางรายเมื่อไปถึง รพ.ทั้งๆที่ก็ดูปกติดี แต่ไปถึงต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ยาฆ่าเชื้อและมักเสียชีวิตด้วยการติดเชื้อในกระแสเลือด ระบบหายใจล้มเหลว ตับและไตวายเฉียบพลัน
กับอีกอาการหนึ่ง คือ Happy Hypoxemia/Silent Hypoxemia หรือ ภาวะพร่องออกซิเจนในเลือดที่ไม่แสดงอาการเป็นภาวะที่ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติใดในระบบทางเดินหายใจ ทั้งๆที่ปอดเริ่มมีความผิดปกติและค่าออกซิเจนในเลือดลดต่ำมากกว่า 80%
Dr.Richard Levitan แพทย์ชาวอเมริกันประจำห้องฉุกเฉินและประธานของ Airway Cam Technologies เขียนบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับอาการปอดบวมที่เกิดจากโควิด-19 ไว้ใน The New York Times เมื่อปีที่แล้วว่า ปกติแล้วผู้ป่วยโรคปอดบวมทั่วไปจะมีอาการแสดงให้เห็นชัดเจนตั้งแต่ปอดเริ่มติดเชื้อ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก แต่สำหรับผู้ป่วยหลายรายที่มีอาการปอดบวมจากโควิด-19 นั้น กลับแทบไม่มีอาการที่บ่งชี้ถึงปอดบวมเลย ผู้ป่วยยังคงรู้สึกปกติดี อาจมีอาการเพียงไข้ต่ำ ไอเล็กน้อย แต่แล้วเมื่อมาเอกซเรย์ปอดกลับพบว่าเชื้อได้ลุกลามเข้าไปในปอดมากแล้ว
“Happy Hypoxemia เป็นภัยเงียบที่ทำให้ผู้ป่วยหลายรายมาถึงโรงพยาบาลช้าเกินไป ทำให้ผู้ป่วยที่ควรจะได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อมีอาการไม่มาก กลายเป็นผู้ป่วยอาการปานกลาง-หนักที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือบางรายก็เสียชีวิตอย่างกะทันหันไม่นานหลังเริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติของทางเดินหายใจ” Dr.Levitan บอก
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญยังบอกด้วยว่า นอกจาก Happy Hypoxia จะทำให้ผู้ป่วยไม่แสดงอาการผิดปกติของปอด จนมารับการรักษาล่าช้ากว่าที่ควรแล้ว ยังทำให้การทำงานของทีมแพทย์ยิ่งยุ่งยากมากขึ้นอีก เพราะผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจนั้นจะต้องการทีมแพทย์ดูแลมากเป็นพิเศษ รวมทั้งใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆอีกมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการรับผู้ป่วยเข้าใหม่และการดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งหมดโดยจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำกัด
สิ่งที่น่าสนใจ ที่ Dr.Levitan บอกเราก็คือ ไม่ใช่ให้ทุกคนตื่นตระหนก แล้วแห่ไปตรวจโควิดหรือเอกซเรย์ปอดกันทุกคน เหตุผลนั้นน่าจะเป็นเพราะสหรัฐอเมริกา รวมทั้งอีกหลายประเทศในยุโรป ได้ผ่านการระบาดครั้งใหญ่มาแล้วในปีที่ผ่านมา ซึ่งในวิกฤติครั้งนั้น พวกเขาได้เรียนรู้แล้วว่าโรงพยาบาลไม่มีกำลังมากพอที่จะสามารถรับรักษาผู้ป่วยได้ทุกราย ทีมแพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากกักตัวอยู่บ้าน (home isolation) โทรศัพท์ปรึกษาอาการกับแพทย์ และสั่งยาไปรับประทานที่บ้าน ส่วนเตียงในโรงพยาบาลจะเตรียมไว้สำหรับผู้ป่วยอาการหนักเท่านั้น
แต่ถึงจะกักตัวอยู่บ้าน ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองอาจติดเชื้อโควิด-19 และผู้ป่วยโควิดที่มีอาการเล็กน้อย ก็สามารถเฝ้าสังเกตปอดของตัวเองได้ในระดับหนึ่งด้วยการใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (fingertip pulse oximeter) หรือแม้แต่ smart watch บางรุ่นก็สามารถใช้วัดค่าออกซิเจนได้เช่นกัน โดยเครื่องวัดออกซิเจนที่ว่านี้เป็นเพียงเครื่องมือชิ้นเล็กๆ ที่ใช้วัดระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดได้ง่ายๆ ด้วยการหนีบปลาย ซึ่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการปอดบวมที่ Dr.Levitan เคยพบนั้น มีค่าออกซิเจนในเลือดอยู่แค่ 50% เท่านั้น แต่กลับไม่มีอาการเหนื่อยหรือหายใจลำบากที่ชัดเจน
“เราไม่สามารถใช้ค่าออกซิเจนฟันธงว่าติดหรือไม่ติดโควิดได้ เพราะถ้าคุณมีประวัติไปยังสถานที่เสี่ยงหรือสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัน วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ไปตรวจโควิด” Dr.Levitan สรุปในตอนท้าย.
อ่านเพิ่มเติม...
เตือนอันตราย “แฮปปี้ นิวมอเนีย” ทำผู้ป่วยโควิดทรุด..ตายใน 2 วัน - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment