“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะราชาผลไม้ไทยอย่างทุเรียน ระบุว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดอันดับ 1 ของโลก โดยการส่งออกเดือนพ.ค. 64 มีมูลค่ารายเดือนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 934.9 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 95.3% เทียบเดือนพ.ค.63 โดยเฉพาะส่งออกทุเรียนไปจีนเติบโตถึง 130.9% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
ทั้งนี้ความต้องการทุเรียนเพิ่มขึ้นทั่วโลกและจีน ทำให้คาดการณ์ส่งออกทุเรียนสดของไทยในปี 64 คาดจะขยายตัว 35-40% มีมูลค่า 2,800-2,900 ล้านดอลลาร์ฯ นับเป็นยอดส่งออกสูงสุดครั้งใหม่จากที่เคยทำไว้ในปีก่อนหน้า จนกลายเป็นสินค้าเกษตรเศรษฐกิจตัวใหม่รองจากยางพารา แซงหน้าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
แม้ว่าทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านจะเริ่มรุกทำตลาด แต่ด้วยกำลังการผลิตยังมีน้อยและกว่าจะมีผลผลิตรุ่นใหม่ต้องใช้เวลา 4-5 ปี ทำให้หลังจากนี้ไทยต้องเจอการแข่งขันเพิ่มขึ้นจากคู่แข่งหน้าใหม่ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม รวมถึงอินโดนีเซีย ซึ่งระหว่างที่คู่แข่งกำลังเพิ่มผลผลิต เกษตรกรไทยก็ควรเร่งทำการตลาดเชิงรุกเพื่อมัดใจผู้บริโภครายใหม่ก่อนคู่แข่ง โดยเฉพาะการขยายตลาดทุเรียนไปยังมณฑลตอนในของจีนที่คู่แข่งไทยกำลังทำตลาดตอนนี้ ทั้งการเร่งเจาะตลาดในรูปแบบอื่นเพื่อยกระดับทุเรียนไทยให้ครองใจผู้บริโภคชาวจีนได้ต่อไป รวมถึงการขยายตลาดไปยังประเทศอื่นในเอเชียที่คุ้นเคยกับผลไม้ไทยอยู่แล้ว และขยายตลาดไปยังภูมิภาคอื่นก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
อย่างไรก็ตาม ความต้องการบริโภคทุเรียนในตลาดจีนที่เพิ่มขึ้นยิ่งเพิ่มความท้าทายให้ทุเรียนไทยในอนาคต แม้ว่าในปัจจุบันทุเรียนไทยครองตลาดจีนได้เกือบทั้งหมดถึง 99% ของการนำเข้าทุเรียนของจีนรวมกับฮ่องกง แต่ด้วยปริมาณผลผลิตทุเรียนไทยที่มีจำกัด 1.1 ล้านตันในปี 63 ซึ่งในจำนวนนี้ไทยส่งออกไปจีนรวมฮ่องกง 822,620 ตัน ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ต้องนำเข้าทุเรียนจากเวียดนาม 12,326 ตัน มีมูลค่า 29.7 ล้านดอลลาร์ฯ , ทุเรียนมาเลเซีย 711 ตัน มีมูลค่า 5.7 ล้านดอลลาร์ฯ
ขณะที่ไทยต้องปรับตัวทำตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย และอี-คอมเมิร์ซของจีน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้สินเชื่อเข้าสู่ผู้บริโภคชั้นกลางที่มีกว่า 300 ล้านคน และจากในปัจจุบันทุเรียนหมอนทองของไทยขายผ่านแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซของจีนได้ปีละ 200,000 ตัน การขนส่งใช้เวลาเพียง 72-120 ชั่วโมงจากแหล่งผลิตถึงมือผู้บริโภค
นอกจากนี้ต้องชูจุดขายด้านสายพันธุ์แปลกใหม่ของไทยให้เป็นที่รู้จักในจีน ช่วยเพิ่มโอกาสทำตลาดในระยะยาว นอกเหนือจากทุเรียนพันธุ์หมอนทองและชะนีของไทยที่นิยมอยู่แล้ว เพราะจีนเริ่มนำเข้าทุเรียนมาเลเซียสายพันธุ์มูซันคิงและสุลต่าน เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทั้งๆ ที่เข้าทำตลาดได้ไม่นาน ทำให้เห็นว่าคนจีนพร้อมเปิดรับทุเรียนหลากหลายประเภท เป็นจังหวะดีที่เกษตรกรไทยควรเร่งเพิ่มกำลังการผลิตทุเรียนสายพันธุ์อื่นเพื่อเพิ่มตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ตลาดจีน แม้จะมีราคาสูงแต่ชาวจีนก็มีกำลังซื้อผลไม้เหล่านี้
ขณะเดียวกันเรื่องการควบคุมคุณภาพในการปลูกก็สำคัญ การคงรสชาติดั้งเดิมจะเป็นตัวสร้างจุดเด่นให้แก่ทุเรียน เช่น การทำตลาดของทุเรียนมาเลเซียใช้จุดขายที่นำผลผลิตมาจำหน่ายเมื่อผลสุกเต็มที่และนำส่งถึงมือลูกค้าทันที ทำให้มีรสชาติดีแม้จะมีราคาสูงจนจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าพรีเมียมแต่ชาวจีนก็เต็มใจซื้อ และทุเรียนมาเลเซียได้ช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดทุเรียนไทยในจีนได้บางส่วน ขณะที่ทุเรียนไทยมีข้อได้เปรียบที่ใกล้ตลาดจีนอยู่แล้วหากพัฒนาสายพันธุ์และคุณภาพตลอดการผลิตทุกกระบวนการย่อมรักษาพื้นที่ตลาดไว้ได้
อ่าน : กรุงไทย พร้อมขาย“ยิ่งออมยิ่งได้” พันธบัตรออมทรัพย์ ให้ดอกเบี้ยสูงสุด 2.2%
ทุเรียน แชมป์ส่งออกโลก ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ - Businesstoday
Read More
No comments:
Post a Comment