22 มิถุนายน 2564
31
เป็นความท้าทายว่าความเชื่อมั่นในยุทธศาสตร์การเลือกตั้งที่นำเสนอผ่านนโยบายของพลังประชารัฐจะทำได้ และจับต้องเป็นรูปธรรมจริงหรือไม่
การเปลี่ยนผ่านภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ล่าสุด ผ่านพ้นไปด้วยความราบรื่น เมื่อร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ผงาดขึ้นครองเก้าอี้เลขาธิการพรรคคนใหม่แทนที่ อนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากกลุ่มสามมิตร ชนิดที่ไม่ต้องห้ำหั่นกันจนเลือดสาด
แม้ขั้ว “สามมิตร”จะไม่พอใจกับโครงสร้างใหม่ของพรรค แต่จำเป็นต้องกัดฟันทนอยู่ร่วมชายคาพรรคนี้ไปก่อน จนกว่าสัญญาณการเลือกตั้งจะปรากฎชัดขึ้นมากกว่านี้ ถึงตอนนั้นคงได้เห็นแนวทางต่อไปของสามมิตรจะเป็นอย่างไร
พลังประชารัฐ นับตั้งแต่ “กลุ่ม 4 กุมาร” นำโดย อุตตม สาวนายน อดีตหัวหน้าพรรค และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตเลขาธิการพรรค เด็กในคาถาของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พ้นไปจากตำแหน่ง และต้องเก็บข้าวของออกจากพรรค ส่งผลให้ “ทีมเศรษฐกิจของพรรค” แทบหมดตัวผู้เล่นที่ช่วยคิด ช่วยวางนโยบาย
กระทั่งเมื่อ “ธรรมนัส” ขึ้นเป็นเลขาฯ จึงถูกจับตาอย่างมากว่า ใครจะก้าวขึ้นมารับผิดชอบงานในส่วนนี้
เลขาฯ พรรคป้ายแดง เปิดเผยให้ทราบเบื้องต้นว่า ได้คัดตัวคนรุ่นใหม่ ที่ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจเข้ามาวางยุทธศาสตร์ด้านนี้ให้กับพรรคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะเปิดตัวในเร็วๆนี้
แม้จะมีคำถามว่าคนรุ่นใหม่อาจจะขาดประสบการณ์การทำงานในสเกลที่ใหญ่ขึ้นอย่างในทางการเมือง พลังประชารัฐจะฝากผีฝากไข้ได้แค่ไหนอย่างไร
หากยึดตามโรดแม็พของนายกรัฐมนตรีที่ส่งสัญญาณอยู่ครบเทอม 4 ปี ซึ่งจะมีเวลาไปถึงประมาณกลางปี 2566 การรณรงค์หาเสียงแต่ละพรรคจึงต้องมีนโยบายเด็ดออกมาเพื่อให้โดนใจประชาชน
หลายพรรคต่างมีตัวเก๋าประสบการณ์อยู่ในทีมยุทธศาสตร์ เพื่อคิดวางนโยบายเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ช่วงหลังการระบาดโควิด-19 ที่นับเป็นงานหิน และสำหรับพลังประชารัฐยิ่งต้องเจอด่านหินสองเด้ง
เด้งแรก คือต้องพิสูจน์ฝีมือคนปั้นนโยบาย ว่าจะเรียกคะแนนนิยมให้พรรคแค่ไหน จะทำอย่างไรให้ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม ตั้งแต่ชนบทยันคนรุ่นใหม่ในเมือง เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย การเป็นพรรคอันดับ 1 ในศึกเลือกตั้งครั้งหน้า
เด้งสอง คือต้องฝ่ากับดักที่เคยหลอกหลอนพลังประชารัฐ หลังเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เมื่อหลายนโยบาย อาทิ ค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท จบปริญญาตรี เงินเดือน 2 หมื่นบาท อาชีวะ 1.8 หมื่นบาทลดภาษีบุคคลธรรมดา 10% เป็นต้น กลับทำไม่ได้จริงทั้งที่ตอนหาเสียงได้ปราศรัยเอาไว้อย่างดิบดี และบางส่วนก็ไม่ได้ทำ
จึงเป็นความท้าทายว่าความเชื่อมั่นในยุทธศาสตร์การเลือกตั้งที่นำเสนอผ่านนโยบายของพลังประชารัฐจะทำได้ และจับต้องเป็นรูปธรรมจริงหรือไม่
ไม่เช่นนั้น ต่อให้นำเสนอนโยบายสวยหรูออกไป ถ้าทำไม่ได้ตามที่ให้สัญญาแต่เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อในช่วงหาคะแนน ก็คงไม่แปลก หากถึงเวลาลงสนามอาจถูกตราหน้าว่า “พรรคขายฝัน”
กับดัก 'นโยบาย พปชร.' ทำไม่ได้-ไม่ได้ทำ - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment