ระลอกแรกก็เป็นแบบนี้ ระลอกสองก็เช่นกัน ระลอกสามและสี่ก็คงไม่แคล้วที่จะถามกันอีกว่า ตกลงแล้วเป็นความผิดพลาดของใคร?
หลังจากที่รัฐบาลประกาศล็อคดาวน์แบบอ่อนๆ พร้อมด้วยคำสั่งห้ามกินในร้าน ทำให้เกิดเสียงบ่นระดมไปทั่ว (อันที่จริงเต็มไปด้วยเสียงด่าทอเสียมากกว่า) แม้ผู้เขียนจะไม่ได้ทำมาค้าขายแต่ก็เห็นใจคนค้าคนขายอย่างยิ่งอย่างน้อยก็ในฐานะคนที่กินนอกบ้านเป็นประจำ
รัฐบาลจะบริหารมีประสิทธิภาพหรือไม่นั้นมันมีหลักฐานคาตาอยู่ เพียงแต่ไม่ใช่แค่รัฐบาลไทยเท่านั้นที่ไปไม่เป็น มาเลเซียต่ออายุล็อคดาวน์ต่อไปอีก ออสเตรเลียก็ต้องล็อคซิดนีย์และจับตาพื้นที่อื่นๆ ญี่ปุ่นกำลังเหงื่อตกเพราะการระบาดหนักอีกรอบ และอีกหลายทีที่ "เดลตา" กำลังเคาะประตูบ้านก็ต้องล้อมบ้านล้อมเมืองอย่างแน่นหนา
ญี่ปุ่นนั้นหนักอกกว่าเพื่อนเพราะเพิ่งจะประกาศหยกๆ ว่าจะจัดโอลิมปิกแน่นอนหลังจากที่พอจะคุมโรคได้นิดหน่อย แต่ในพลันที่ยืนยันว่าจะจัดชัวร์การระบาดก็หนักขึ้นมาเสียอย่างนั้น
เช่นเดียวกับ พล.อ. ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ลั่นวาจาว่าจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน แต่คล้อยหลังไม่กี่วันหลังจากนั้นการระบาดในประเทศก็หนักขึ้นอีก คำสั่งคลายล็อคไม่กี่วันก่อน ต้องถูกทบทวนและยังเพิ่มเติมคำสั่งที่เข้มงวดขึ้นอีก นั่นคือห้ามกินในร้านอาหาร
ผู้เขียนคิดเล่นๆ ว่า ไอ้โควิดนี้เหมือนมันมีญาณหยั่งรู้ หากประเทศไหนทำท่าว่าจะประกาศอิสรภาพ มันจะเข้าไปโจมตีทันที
แม้แต่สหรัฐที่เหมือนจะปกติกันแล้ว ตอนนี้ยังพบผู้ติดเชื้อหลายพันคนทั้งๆ ที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว อันที่จริงสหรัฐไม่ควรเรียกว่า "ปกติแล้ว" บางคนเหมาเอาว่าอเมริกันไม่สวมหน้ากากกันแล้วและนั่งกินตามร้านเหมือนปกติแสดงว่ามาตรการเขาดี
แต่โปรดอย่าลืมว่าช่วงแรกๆ ที่เกิดการระบาดนั้นคนอเมริกันด่ารัฐบาลสาดเสียเทเสียว่าไม่เอาอ่าวอีกทั้งคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยไม่ทำตามคำสั่งรัฐบาลเอาเลย ทั้งไม่สวมหน้ากากและใช้ชีวิตเหมือนไม่มีอะไรเกิดขั้น ยังไม่ต้องเอ่ยถึงพวก Anti-mask ที่ไล่ด่าหรือทำร้ายคนสวมหน้ากาก
เมื่อต้นเดือนนี้เองที่มีผลสำรวจโดย Gallup poll เผยว่า 49% ของชาวอเมริกันที่บอกว่าพวกเขาไม่มีแผนที่จะรับการฉีดวัคซีนบอกว่าพวกเขาสวมหน้ากากในช่วงเจ็ดวันที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่าที่เหลือคือราว 50% ไม่รับทั้งวัคซีนและไม่สวมทั้งหน้ากาก ซึ่งถือเป็นตัวเลขผู้สวมหน้ากากที่ต่ำที่สุดเท่าที่มีมา
ดังนั้นอเมริกันไม่ใช่จะเพิ่งมาปกติ แต่เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร
แต่เราจะต้องให้เครดิตการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมของประเทศตะวันตกด้วย (สหรัฐนั้นพึงละไว้ในฐานที่เข้าใจ) ในยุโรปหลายประเทศฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุมแล้วและเริ่มใช้ชีวิตปกติ โดยเฉพาะให้เข้าไปนั่งกินในร้านอาหาร
อย่างไรก็ตาม มาตรฐานยุโรปนั้นเข้มงวดและเคร่งครัด บางประเทศให้เข้าไปนั่งกินได้แล้ว แต่จะต้องมีหลักฐานยืนยันว่าฉีดวัคซีนแล้วหรือมีผลตรวจเป็นลบ เช่น ออสเตรีย เดนมาร์ก และเยอรมนี
แต่มีประเทศหนึ่งที่ฉีดวัคซีนในอัตราที่สูงพอสมควรแล้วแต่ยังไม่ยอมอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปกินในร้านสักที นั่นคือไอร์แลนด์ ล่าสุดนี้เพิ่งจะประกาศเลื่อนไปเปิดให้กินในร้านได้ในวันที่ 5 กรกฎาคม อีกประเทศคือกรีซจะเปิดในต้นเดือนกรกฎาคมเช่นกัน
ปรากฎว่าร้านรวงต่างๆ โอดครวญกันใหญ่ หนึ่งในเชฟดังบอกว่า "นี่มันบริหารผิดพลาดชัดๆ" เพราะไอร์แลนด์น่าจะฉีดวัคซีนถึง 80% แล้วเมื่อถึงปลายเดือนมิถุนายน หากฉีดวัคซีนแล้วก็ควรจะเปิดร้านตามปกติได้
รัฐบาลไอร์แลนด์คงระแวงการระบาดของเชื้อเดลตา แต่อังกฤษที่มีเชื้อเดลตาระบาดถึง 90% ของเชื้อทั้งหมดที่พบก็เปิดร้านตามปกติ เพียงแต่ให้ปิดแค่ 22.00 น.
ดังนั้นดูเหมือนว่าแต่รัฐบาลในโลกนี้จะมีมาตรการต่างกันมาก การตัดสินใจอย่างหนึ่งอาจให้ผลเสียหายยับเยิน แต่หากไม่ทำก็ถูกด่ายับเยินเหมือนกัน
แต่กับรัฐบาลไทยนั้นดูเหมือนจะมีเวรกรรมมากกว่าเพื่อน เวรกรรมที่ว่านี้ก็เกิดเป็นผลมาจากการทำและไม่ทำของรัฐบาลนั่นเอง เรื่องที่ผู้เขียนย้ำมาตลอดคือรัฐบาลทำตัวให้ไม่น่าเชื่อถือ สั่งการคนละอย่างสองอย่าง ทำงานไม่ประสานกัน การประชาสัมพันธ์ติดลบ และผู้บริหารประเทศมักทีเล่นทีจริงบ่อยเกินไป
สรุปก็คือรัฐบาลนี้ขาด Integrity ไม่ต้องกับซื่อสัตย์สุจริตราวกับผ้าขาว เพียงแต่ให้ประชาชนรู้สึกว่าสิ่งที่รัฐบาลบอกหรือทำนั้นเชื่อถือได้และคงเส้นคงวาก็พอ ซึ่งตอนนี้มันไม่ใช่
ดังนั้นเมื่อรัฐบาลสั่งอะไรออกมา ประชาชนจึงสับสน หมดหวังที่จะพึ่งพา บ่อยครั้งเข้าก็ไม่ทำตาม
แต่เรื่องนี้จะโทษรัฐบาลทั้งหมดก็ไม่ถูก ต้องโทษประชาชนอย่างเราด้วยที่ "ดื้อ" กับมาตรการต่างๆ และ "เฉยชา" กับภาวะคับขัน
เรียกว่ารัฐบาลรับผิดชอบส่วนหนึ่ง ประชาชนทำกันเองส่วนหนึ่ง แต่สัดส่วนความรับผิดชอบของสองฝ่ายจะเป็น 50-50, 60-40, 70-30 หรือจะเท่าไรนั้นคงต้องรอเวลาให้ประเมินหลังวิกฤตนี้สิ้นสุดลงก่อนจึงจะยุติธรรม
ไหนๆ ก็คนด่ากันเยอะแล้ว วิธีการแก้ปัญหาไม่ค่อยมี จะขอบอกว่าปัญหาเฉพาะหน้าตอนนี้คือทำอย่างไรให้ร้านขายแล้วให้ลูกค้านั่งกินได้ วิธีแก้ก็อย่างที่บอกคือรัฐบาลต้องฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดเพื่อทำอย่างประเทศในสหภาพยุโรป หรืออย่างน้อยก็แบบอังกฤษที่ใช้วัคซีนคล้ายๆ เรา
ปัญหาก็คือ ประเทศตะวันตกใช้วิธีแบบนี้ได้ไม่ใช่เพราะวัคซีนเท่านั้น แต่เพราะมีระเบียบควบคุมธุรกิจบริการ/อาหารที่เข้มงวดกว่าไทย ไทยนั้นมี "เศรษฐกิจสีดำ" ที่อยู่นอกระเบียบจัดการและนอกระบบภาษีมากมายเกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพี มันทำให้การดูแลยากเป็นทวีคูณ
ความที่ประเทศไทยไร้ระเบียบอย่างที่สุดนี่เองที่ทำให้การแก้ปัญหาสะดุดครั้งแล้วครั้งเล่า แม้แต่การเยียวยาก็จะตัน เพราะเงินที่นำไปแจกนั้นไม่สามารถดึงคืนมาได้จากคนที่รัฐบาลแจกไปเพราะครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในระบบภาษี
พูดถึงเรื่องนอกระบบแล้ว นอกเหนือจากเรื่องที่ควบคุมไม่ได้อย่างโรคระบาดที่อาจแพร่ในอากาศ มันยังมีหลายกรณีที่เกิดขึ้นในเมืองไทยที่แสดงให้เห็นว่าธุรกิจบริการบางกลุ่มไม่แยแสกับมาตรการป้องกันโรคเอาเลย
ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างซอฟต์ๆ ที่เจอมาเพราะมันเป็นสิ่งที่เห็นตำตาในชีวิตประจำวัน
วันหนึ่งหลังจากรัฐบาลคลายกฎให้นั่งกินในร้านคราวก่อน ผู้เขียนไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวร้านหนึ่ง หลังจากสั่งไปแล้วสักพักเพิ่งจะเห็นว่าผู้ปรุงไม่ยอมสวมหน้ากากระหว่างปรุงรอแล้วรออีกก็ไม่ดึงหน้ากากขึ้นมาสวมสักที ในใจก็คิดเข้าข้างเขาว่าของมันร้อนคงจะฆ่าเชื้อไประหว่างปรุงแล้ว แต่แล้วเมื่อปรุงเสร็จก็ยังมาเสิร์ฟทั้งๆ ที่ถอดหน้ากากอนามัย จึงขอปฏิเสธไม่รับเพราะเกรงว่าจะติดโรค
ขนาดนั่นเป็นร้านที่มีหลักแหล่งไม่ใช่รถเข็น แต่ไม่มีมาตรการดูแลลูกค้าอะไรทั้งสิ้น ทั้งตรวจอุณหภูมิหรือจัดที่ล้างมือให้ ทั้งยังปล่อยปละละเลยให้ผู้ปรุงไม่สวมหน้ากาก
ออกจากร้านนั้นแล้วด้วยความหิวจึงไปสั่งอีกร้านหนึ่งซึ่งมีเครื่องตรวจอุณหภูมิและเครื่องล้างมือให้เสร็จสรรพ ร้านรวงสะอาดดีและน่าไว้ใจ แต่ปรากฎว่าขณะนั่งรอ พนักงานบริการในร้านนั่งห่างไปเพียงชั่วโต๊ะเดียวนั่งทำผมกันกลางร้านกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งไม่ถูกสุขอนามัยเอาเลยไม่ว่าจะมีโควิดหรือไม่มีก็ตาม
แต่ด้วยความหิวและไม่มีร้านอื่นที่น่าไว้ใจกว่านี้จึงกินร้านนั้นไปด้วยความกังวลใจลึกๆ ว่า "จะรอดไหม" แต่ถ้ารอดก็คงไม่กลับไปอีกแล้ว
ที่เอ่ยถึงเรื่องนี้ก็เพื่อจะย้ำว่าตั้งแต่ก่อนที่จะคลายล็อคดาวน์เมื่อปีที่แล้วผู้เขียนได้แนะนำว่าการระบาดใหญ่เป็นการ Disruption อย่างหนึ่ง ธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัวด้วย โดยเฉพาะในไทยที่มีปัญหาสุขลักษณะของธุรกิจ "อาหารริมทาง" อย่างมาก แต่เรามักอวยกันเองว่าเป็นสวรรค์ Street food จนละเลยจุดนี้ไป
ผู้เขียนคิดว่าบ้านเมืองเรามีอาหารถูกๆ แบบ Street food เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเราจะเป็นประเทศที่พัฒนากว่านี้ สุขอนามัยของบริการด้านอาหารต้องดีกว่านี้ให้มาก ไม่ใช่ว่าจะเน้นแต่ของถูกแต่นำโรคภัยมาสู่ตน เพราะสุขอนามัยถือเป็นเครื่องวัดสวัสดิการชีวิตที่ดีอย่างหนึ่งไม่เฉพาะในช่วงการระบาดใหญ่เท่านั้น
หากไม่ปรับปรุงตัวเองให้ถูกสุขลักษณะพื้นฐานก็อาจจะรอดได้ยากหรือไม่มีอะไรโน้มน้าวใจลูกค้าได้ว่า "เราปลอดภัยเพราะคำนึงถึงความสะอาด"
ยังไม่นับว่ารัฐบาลจะต้องเสียเวลามาใคร่ครวญอีกว่าถ้าให้เปิดกันหมดจะเวิร์กไหม หรือให้เปิดเฉพาะที่อยู่ในระบบภาษีและการควบคุมอนามัยจะถูกด่าว่ารังแกคนจนไหม หรือให้เปิดเฉพาะร้านที่มีมาตรการดูแลลูกค้าครบครันด้วยอุปกรณ์จะถูกด่าว่าเอาใจร้านรวยๆ ไหม?
ผู้เขียนเห็นหลายคนสิ้นหวังกับรัฐบาลและบอกว่าประชาชนดูแลกันเองได้ แต่เท่าที่เห็น การโทษรัฐบาลนั้นมันง่าย (และรัฐบาลก็คงไม่สนใจเอาง่ายๆ ด้วย) ส่วนการดูแลกันเองนั้นมันยาก เอาเข้าจริงประชาชนไม่สามารถดูแลกันเองได้ในหลายๆ เรื่อง เพราะ "คนไทยทำอะไรตามใจชอบ" จึงต้องใช้ระเบียบอันเข้มงวดและการบังคับใช้ที่เด็ดขาดของทางการ
เพียงแต่มันจะกลับไปสู่ปัญหาเดิมที่ผู้เขียนเอ่ยถึง คือรัฐบาลนี้ขาดความน่าเชื่อถือกระทั่งไม่ชวนให้ประชาชนเชื่อและทำตาม จนทำให้ชวนคิดว่าจริงๆ แล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลหรือประชาชนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่อยู่ที่แต่ละฝ่ายไม่เข้าขากันมากกว่า
ขณะที่ไอซ์แลนด์เพิ่งจะยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับโควิด-19 ในประเทศทั้งหมด โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า 87% ของผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส ทำให้ไอซ์แลนด์อาจเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปกลุ่มแรกๆ ที่ยุติมาตรการจำกัด
ดร.ธอโรลเฟอร์ กุดนาสัน (Dr Thorolfur Gudnason) นักระบาดวิทยาชื่อดังของไอซ์แลนด์บอกกับ Bloomberg ว่า ในไอซ์แลนด์นั้น "ทุกคนพายเรือไปในทิศทางเดียวกัน และนั่นคือเหตุผลที่เราได้ผลลัพธ์ที่เรามี" นั่นคือสามารถคลายล้อคดาวน์ได้
ส่วนเมืองไทยนั้นแม้แต่ในรัฐบาลยังพายกันคนละทิศละทาง ยังไม่นับพวกที่เท้าราน้ำอีกมากมาย
กรกิจ ดิษฐาน
Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP
รัฐบาลไร้น้ำยากับประชาชนทำตามใจชอบ จะโทษใครดี? - โพสต์ทูเดย์
Read More
No comments:
Post a Comment