4 มิถุนายน 2564 | โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
193
เปิดเงื่อนไข และขั้นตอนการลงทะเบียนมหกรรม "ไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อรถยนต์" ออนไลน์ จาก "ธนาคารแห่งประเทศไทย" ช่วยลดภาระการผ่อน "หนี้รถยนต์"
"โควิด-19" ส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าของประชาชน โดยเฉพาะคนมี "หนี้" ที่มีความสามารถในการผ่อนชำระลดลง สืบเนื่องจากรายได้ที่ลดลง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก
ล่าสุด "ธนาคารแห่งประเทศไทย" เปิดโครงการเพื่อช่วยบรรเทาภาระลูกหนี้ ที่มี "หนี้เช่าซื้อรถยนต์" โดยให้ "ไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อรถยนต์" ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ โดยครอบคลุมลูกหนี้ที่เช่าซื้อรถยนต์ ที่เป็น "ลูกหนี้" ของธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงินท่ีเข้าร่วมโครงการ ได้แก่
ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการนอกจากจะเป็นลูกหนี้ตามเจ้าหนี้ข้างต้นแล้ว ยังต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีสถานะการเป็นหนี้ 3 รูปแบบ ดังนี้
- ใครขอไกล่เหลี่ยหนี้เช่าซื้อรถยนต์ได้บ้าง ?
1) กลุ่มที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) หรือกลุ่มที่เป็น NPL แต่รถยังไม่ถูกยึด
แนวทางช่วยเหลือจะสอดคล้องกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 ของ ธปท. ได้แก่ การปรับโครงสร้างหนี้ ลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง สามารถขอพักชำระค่างวดได้ 3 เดือน หรือตามผลกระทบที่ลูกหนี้ได้รับ
โดยแนวทางใหม่จะคำนวณดอกเบี้ยในช่วงพักชำระหนี้จากฐานของค่างวดที่ได้พักชำระหนี้ตามเกณฑ์ของ สคบ. ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยในช่วงที่พักชำระหนี้ถูกลงอย่างมาก (แนวทางเดิมเป็นการคำนวณดอกเบี้ยจากฐานของเงินต้นคงค้างทั้งหมด)
สำหรับลูกหนี้ที่เคยพักชำระค่างวดหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และได้รับผลกระทบรุนแรงจนไม่สามารถชำระหนี้ต่อไปได้ สามารถคืนรถยนต์เพื่อลดภาระหนี้ได้ และหากราคาขายรถทอดตลาดที่ได้รับต่ำกว่าภาระหนี้คงค้าง ลูกหนี้สามารถขอผ่อนปรนเพิ่มเติมได้โดยผู้ให้บริการทางการเงินอาจพิจารณายกหนี้ส่วนที่เหลือให้ตามความเหมาะสม
2) กลุ่มลูกหนี้ที่รถถูกยึดแล้วแต่ยังไม่ถูกขายทอดตลาด
ลูกหนี้เช่าซื้อสามารถใช้ช่องทางของงานมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในครั้งนี้ เพื่อเจรจากับเจ้าหนี้เช่าซื้อที่ร่วมงานเพื่อขอรถที่ถูกยึดไปคืน โดยเจ้าหนี้เช่าซื้อจะชะลอการขายทอดตลาด และปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ลูกหนี้ที่เช่าซื้อมีโอกาสที่จะนำรถกลับไปประกอบอาชีพหรือใช้ในชีวิตประจำวันได้
3) กลุ่มลูกหนี้ที่รถถูกขายทอดตลาดแล้ว แต่ยังมีหนี้เช่าซื้อส่วนขาด
ลูกหนี้ที่รถถูกขายทอดตลาดแล้ว แต่ยังมีมูลหนี้เช่าซื้อส่วนที่ขาดกรณีรถถูกขายทอดตลาดแล้ว ปรากฏว่าเงินที่ได้รับนั้นน้อยกว่ายอดหนี้เช่าซื้อคงเหลือ ทำให้มียอดหนี้ส่วนขาด หรือ "ติ่งหนี้"
โดย สคบ.และ ธปท. ได้ร่วมกันศึกษาแนวคำพิพากษาของศาลยุติธรรมเกี่ยวกับการคำนวณยอดหนี้เช่าซื้อส่วนขาด และได้จัดทำโปรแกรมการคำนวณยอดหนี้เช่าซื้อส่วนขาดแบบง่ายๆ เพื่อให้ลูกหนี้จะได้ใช้คำนวณเบื้องต้นด้วยตัวเอง คลิก Self-Check App ภาระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์
- "มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อรถยนต์ออนไลน์" ลงทะเบียนอย่างไร ?
ผู้ที่มีคุณสมบัติตาม 3 ข้อข้างต้น ที่ต้องการเข้าร่วมไกล่เกลี่ยหนี้สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. - 31 ก.ค. 64 โดยสามารถทำได้ผ่าน 4 ช่องทาง
1. กระทรวงยุติธรรม คลิกที่นี่
2. สำนักงานศาลยุติธรรม คลิกที่นี่
3. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) คลิกที่นี่
4. ธนาคารแห่งประเทศไทย คลิกที่นี่
ทั้งนี้ ประชาชนที่ไม่ถนัดในการกรอกข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ หรือต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม สามารถติดต่อ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทรศัพท์ 1213 เพื่อขอคำแนะนำและความช่วยเหลือในการกรอกข้อมูล ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น.
หากนอกเวลาทำการสามารถฝากชื่อและเบอร์โทรศัพท์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือส่งอีเมลมาที่ [email protected] เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไป
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
ลงทะเบียน 'ไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อรถยนต์' ออนไลน์ ทำอย่างไร ใครเข้าร่วมได้บ้าง ? - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment