27 พฤษภาคม 2564 | โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
89
อย่าทิ้ง! เปิด 4 ขั้นตอนจัดการ "ประกันชีวิต" เมื่อรายได้ลด ตกงาน หรือจ่าย "เบี้ยประกัน" ต่อไปไม่ไหว ที่จะช่วยให้ "บริหารเงิน" และประกันที่มีอยู่ได้แบบไม่เสียประโยชน์ไปฟรีๆ
สถานการณ์ "โควิด-19" ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเงินในกระเป๋าของประชาชนอย่างต่อเนื่อง พบการทิ้งประกัน 676,000 ฉบับ ทั้งประกันชีวิต ประกันออมทรัพย์ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันชีวิตควบการลงทุน หวังลดภาระค่าใช้จ่าย
โดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยข้อมูล ช่วง 9 เดือนของปี 2563 ช่วง ม.ค.-ก.ย. 63
พบว่า กรมธรรม์ประกันชีวิตในระบบมีการยกเลิกและขาดอายุ รวมทั้งสิ้น 676,000 ฉบับ ทั้งประกันชีวิต ประกันออมทรัพย์ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันชีวิตควบการลงทุน สอดคล้องกับอัตราผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตต่อประชากรลดลงมาอยู่ที่ 39.50% จาก 39.65% ของช่วงเดียวกันปีก่อน
ทว่าการ "ทิ้งประกัน" หรือ "ทิ้งกรมธรรม์" อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผู้เอากรมธรรม์ เนื่องจากการปล่อยกรมธรรม์ทิ้งไปแบบไม่ครบกำหนดเวลา ทำให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากกรมธรรม์ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเสียไปฟรีๆ
ใครที่กำลังประสบปัญหานี้ หรือกำลังวางแผนจะทิ้งประกันเพราะจ่ายไม่ไหว "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวมทางออกของการจัดการกับประกันในมือเมื่อไม่ได้เงินจ่ายเบี้ยประกันต่อ 4 ทางเลือก ที่ช่วยให้สามารถรักษากรมธรรม์ไว้ได้ หรือเวรคืนกรมธรรม์ได้แบบไม่เสียสิทธิ์ไปฟรีๆ
เพราพรรณ วัชรกาฬ นักวางแผนการเงิน บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต แนะนำเทคนิคในการจัดการประกันเมื่อจ่ายเบี้ยประกันไม่ไหว ในรายการปณิดคิดเงิน ซีซีน 2 EP.23 ไว้ ที่สามารถเลือกทางที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุด ดังนี้
ก่อนที่จะตัดสินใจ "ทิ้งประกัน" สักเล่ม ควรเริ่มต้นจากการทบทวนและให้คำตอบกับตัวเองให้ได้ก่อนว่า
"เราทำประกันเพื่ออะไร" และ "ประกันเล่มนี้ยังมีประโยชน์กับเราหรือไม่" หากคำตอบของคำถามเหล่านี้คือ ประกันเล่มนี้ยังมีประโยชน์กับเรา อย่าเพิ่งทิ้ง!
ทางเลือกที่ 1 : เช็คมูลค่ากรมธรรม์ที่มี
ดูมูลค่ากรมธรรม์ ที่สะสมไว้ก่อนว่าเราตลอดระยะเวลาที่จ่ายเบี้ยประกันที่ผ่านมา กรมธรรม์ของเรามีมูลค่าสะสมอยู่เท่าไรบ้าง
การตรวจสอบมูลค่าประกันที่มีอยู่จะทำให้เห็นว่าหากจะทิ้งประกันไปเรามีสิทธิที่จะได้รับเงินหรือสิทธิประโยชน์ใดได้บ้าง
ทางเลือกที่ 2 : กู้กรมธรรม์ ออกมาจ่ายเงินประกันล่วงหน้าได้
กู้กรมธรรม์ออกมาจ่ายเงินประกันล่วงหน้าได้ สำหรับคนที่ตรวจสอบมูลค่ากรมธรรม์แล้วพบว่ามีมูลค่ากรมธรรม์อยู่ สามารถ "กู้กรมธรรม์" ออกมาเป็นเงินสำหรับจ่ายเบี้ยประกันล่วงหน้าได้ โดยความคุ้มครองจะยังคงดำเนินไปตามปกติ
อย่างไรก็ตาม เงินที่กู้กรมธรรม์ออกมาจะต้องถูกคิดดอกเบี้ยเหมือนกับเงินกู้ทั่วไป ซึ่งอัตราดอกเบี้ยและการกำหนดการชำระคืน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท แต่ละกรมธรรม์
ทางเลือกที่ 3 : ปรับงวดชำระจากรายปี เป็นรายเดือน
ปรับงวดชำระจากรายปี เป็นรายเดือน หรือ 3 เดือน หรือ 6 เดือน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเป็นเงินก้อน ซึ่งการทยอยจ่ายจะช่วยให้สามารถจัดการได้ง่ายกว่า และใช้เงินยอดเงินน้อยกว่า
ทั้งนี้ การเปลี่ยนมาชำระ "เบี้ยประกัน" แบบรายเดือนอาจมีอัตราที่สูงกว่าการจ่ายแบบรายปีตามปกติ แต่จะช่วยให้สามารถรักษาความต่อเนื่องของการจ่ายเบี้ยประกันไว้ได้ และไม่เสียกรมธรรม์ที่จ่ายมาตลอดแบบเปล่าประโยชน์
ทางเลือกที่ 4
การขอลดทุนประกัน อาจเป็นตัวเลือกสุดท้าย เมื่อลองพิจารณา 3 ทางเลือกก่อนหน้าแล้วยังไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ ซึ่งการขอลดทุนประกัน จะช่วยให้จ่ายเบี้ยประกันลดลง แต่แน่นอนว่าวงเงินความคุ้มครองต่างๆ ย่อมลดลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ ก่อนที่จะตัดสินใจยกเลิกกรมธรรม์ เวรคืนกรมธรรม์ หรือทิ้งกรมธรรม์สักเล่ม ลองปรึกษาตัวแทนประกัน นักวางแผนการเงิน หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อ "เวรคืนประกัน" ให้คุ้มค่าที่สุดตามที่ควรจะได้รับ ณ เวลานั้นๆ จะดีที่สุด
'โควิด' ไม่จบ จ่ายเบี้ย 'ประกัน' ต่อไปไม่ไหว ทำอย่างไรได้บ้าง? - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment