เป็นที่ทราบกันว่า “กฎหมาย” มีผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม การฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายหรือถูกลงโทษ กฎหมายจึงมีผลกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลในสังคมเพื่อแลกกับประโยชน์สาธารณะอย่างหนึ่งอย่างใด มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้วางหลักการสำคัญเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยให้มีการรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำร่างกฎหมายและเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นนั้นต่อประชาชน เพื่อให้ภาระที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนเป็นไปเท่าที่จำเป็น เพื่อสร้างหลักประกันให้ประชาชนได้รับรู้และมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำร่างกฎหมายตั้งแต่ต้นทาง และที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อตรวจสอบความคิดอีกรอบว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเห็นว่าเป็นปัญหานั้นเป็นปัญหาจริงหรือไม่? หรือประชาชนได้แก้ปัญหาไปแล้วหรือมีวิธีแก้ปัญหาอื่นที่ดีกว่าหรือไม่? ทั้งนี้ เพื่อให้กฎหมายที่จะออกมาใช้บังคับนั้นเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะหน่วยงานกลางด้านกฎหมายของประเทศได้ดำเนินการต่าง
ๆ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่กำหนดไว้ในมาตรา77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังต่อไปนี้
(1) จัดทำกฎหมายกลางว่าด้วยการจัดทำร่างกฎหมาย คือ “พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายพ.ศ. 2562”(หรือที่เรียกกันในหมู่นักกฎหมายภาครัฐว่า “พ.ร.บ.77”) โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็น (มาตรา13 ถึงมาตรา19) และกำหนดให้มีการจัดทำ “ระบบกลาง” ทางกฎหมายขึ้น เพื่อใช้ในการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมายตลอดจนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็น (มาตรา11) ทั้งนี้ ในระหว่างที่การจัดทำระบบกลางยังไม่แล้วเสร็จ ให้ถือว่าการดำเนินการผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานของรัฐเป็นการดำเนินการผ่านระบบกลางแล้ว (มาตรา38)
(2) ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร. หรือDGA) จัดทำ platform ระบบกลางทางกฎหมายตามที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯกำหนด โดยปัจจุบันเว็บไซต์ระบบกลาง (lawtest.egov.go.th) อยู่ระหว่างการจัดทำและทดลองระบบให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะที่แผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายกำหนด
(3) กรณีร่างกฎหมายของกระทรวง กรม หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะตรวจสอบรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นที่หน่วยงานของรัฐเจ้าของร่างกฎหมายจัดทำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบหลักการของร่างกฎหมายนั้น ว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ แล้วหรือไม่?นอกจากนั้น สำนักงานฯ จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับร่างกฎหมายซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพิ่มเติมด้วยเพื่อความรอบคอบยิ่งขึ้น
(4) กรณีร่างกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือคณะกรรมการพัฒนากฎหมายพิจารณาจัดทำขึ้นตามหน้าที่และอำนาจที่กฎหมายกำหนด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะนำร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นรับฟังความคิดเห็นในเว็บไซต์ของสำนักงานฯ (www.krisdika.go.th) และเว็บไซต์ระบบกลางที่อยู่ระหว่างการทดลองระบบ (lawtest.egov.go.th) นอกจากนั้นจะประชาสัมพันธ์การรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวในเว็บไซต์ของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย (www.lawreform.go.th) ตลอดจนเพจfacebookของสำนักงานฯ (เพจ “สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา”) และเพจfacebookของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายด้วย (เพจ “ThaiLawReformCommission”) เพื่อให้ได้รับความคิดเห็นจากประชาชนมากที่สุด
โดยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ร่างกฎหมายที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการพัฒนากฎหมายจำนวนมากได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปตามช่องทางต่างๆ ดังกล่าว ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำความคิดเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เหล่านั้นมาประมวลสรุปเสนอคณะกรรมการพัฒนากฎหมายพิจารณาประกอบการจัดทำร่างกฎหมายให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 (แก้ไขปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ) ร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... และการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย กยศ. ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ เป็นต้น
การรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมายเป็นกระบวนการที่ออกแบบมาเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับร่างกฎหมายที่จะมีผลกระทบต่อตน ดังนั้น ยิ่งประชาชนให้ความสนใจและให้ความร่วมมือมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นหรือมีข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายที่หน่วยงานของรัฐนำออกรับฟังความคิดเห็นมากขึ้นเท่าใด ร่างกฎหมายนั้น ๆ ก็จะมีผลกระทบต่อประชาชนเพียงเท่าที่จำเป็นและสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้นเท่านั้น
(บทความประชาสัมพันธ์)
การรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย - ผู้จัดการออนไลน์
Read More
No comments:
Post a Comment