“ควรเลิกสื่อสารในทำนองแดกดันประชาชนที่เขาอยากจะเลือกฉีดวัคซีนได้แล้ว พอประชาชนอยากจะฉีดไฟเซอร์ (Pfizer) ก็ไปตอบโต้ประชาชนในทำนองว่าประเทศไทยไม่ได้ร่ำรวยอะไร อย่าไปเลือกวัคซีนเลย ฟังแบบนี้ตอนแรกหลงคิดว่า Pfizer เข็มละเป็นหมื่นนะครับ ที่ไหนได้ เข็มละ 600 2 เข็ม 1,200 ต่อให้ฉีดให้กับประชาชนทั้งประเทศ 67 ล้านคน แค่ 80,000 ล้านบาท ส่วนซิโนแวค (Sinovac) ไม่ใช่ว่าจะถูก เข็มละ 549 บาท ถูกกว่าไฟเซอร์ 51 บาท นี่ยังไม่นับที่ซีอีโอไฟเซอร์ออกมาเปิดเผยว่า ถ้าประเทศรายได้ปานกลางมาขอซื้อจะลดราคาให้ด้วย ถ้าได้ราคาเท่ากับโคลัมเบียที่เข็มละ 372 บาท ใช้งบแค่ 50,000 ล้าน นี่คืองบฉีดวัคซีนที่ควรต้องเร่งจ่าย แต่รัฐบาลไม่จ่าย คุ้มหรือไม่กับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ พล.อ.ประยุทธ์ รู้ดีว่ามีมูลค่าสูงถึง 2.5 แสนล้านบาทต่อเดือน คนที่ใช้จ่ายแบบนี้มีสามัญสำนึกหรือไม่”
วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า การฉีดวัคซีนล่าช้าเพราะแทงม้าตัวเดียว เทียบกับเงินเยียวยา เราไม่ทิ้งกัน 390,000 ล้านบาท เราชนะ 210,000 ล้านบาท เรารักกัน 37,100 ล้านบาท พอการระบาดระลอกที่ 3 เกิดขึ้น ต้องเพิ่มงบให้เราชนะ เรารักกัน อีก 85,500 ล้านบาท รวมกันแล้วเยียวยาไปกว่า 700,000 ล้านบาท เทียบกับวัคซีนต่อให้ฉีดไฟเซอร์แค่ 80,000 ล้านบาท หรืออย่างงบประมาณในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิดในเรือนจำ 142 แห่งทั่วประเทศ งบปี 64 กำหนดเอาไว้แค่ 750,000 บาท เฉลี่ยแล้วเรือนจำแต่ละแห่ง มีงบในการป้องกันการแพร่ระบาดเพียงแค่ 5,300 บาทต่อปี หรือเดือนละ 440 บาท สุดท้ายต้องมาเจอกับการระบาดที่คลัสเตอร์เรือนจำ จนถึงเมื่อวานนี้ นับตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. ที่เพิ่งมีการรายงาน มีผู้ติดเชื้อรวมกันไปแล้วถึง 24,300 ราย อย่างนี้มีสามัญสำนึกหรือไม่
ส่วนกรณีงบกองทัพบก ปี 65 ภาพรวมปรับลดงบประมาณลง 6,603 ล้านบาท ดูเหมือนจะดี แต่ในรายละเอียดอย่างโครงการเสริมสร้าง จัดหายุทโธปกรณ์ ปี 64 มีงบอยู่ที่ 3,132 ล้านบาท พอมาปี 65 กลับงอกเพิ่มขึ้นมา 1,805 ล้านบาท เป็น 4,937 ล้านบาท กองทัพเรือ ภาพรวมในปี 65 ปรับลดลง 1,130 ล้านบาท แต่พอเจาะเข้าไปดูโครงการเสริมสร้าง จัดหายุทโธปกรณ์ ก็มีพฤติกรรมเดียวกัน ปี 64 มีงบอยู่ที่ 533 ล้านบาท พอมาปี 65 ถูกปรับเพิ่มขึ้น 873 ล้านบาท งอกมาเป็น 1,406 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณเสริมสร้างและจัดหายุทโธปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น ของกองทัพบก และกองทัพเรือ เมื่อรวมกันแล้วเพิ่มขึ้นถึง 2,678 ล้านบาท ถ้าทั้งกองทัพบก และกองทัพเรือ จะเห็นแก่ประชาชน ไม่ใช่ห้ามไม่ให้จัดหา แค่ขอให้จัดหาเท่ากับปีที่แล้ว เงิน 2,678 ล้านบาทนี้ก็จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดได้มากมาย
สำหรับงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นกลไกสำคัญในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด และเป็นหน่วยงานที่ประชาชนคนไทยทั้ง 67 ล้านคนฝากชีวิตเอาไว้ ถ้าไปถามประชาชนว่าหน่วยงานไหนของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ในสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชนทุกคนจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “กรมควบคุมโรค” พอมาดูงบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 กลับพบว่า กรมควบคุมโรค ได้งบประมาณเพียง 3,565 ล้านบาท ในขณะที่งบปี 64 อยู่ที่ 4,044 ล้านบาท ลดลง 479 ล้าน คิดเป็น 11.8% ที่แย่ไปกว่านั้น เมื่อเทียบกับงบปี 62 ที่ยังไม่เจอกับโควิด กรมควบคุมโรค ได้รับงบประมาณอยู่ที่ 4,036 ล้านบาท ปี 65 ที่กรมควบคุมโรคต้องไปสู้กับโควิดแต่งบกลับน้อยกว่าปี 62 ถึง 470 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในเรื่องบการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสในปี 64 มีงบอยู่ที่ 604 ล้านบาท เพื่อดูแลเด็กด้อยโอกาส 33,528 คน ในปี 65 ด้วยสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นจากโควิด ทำให้มีเด็กด้อยโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 34,005 คน แทนที่จะเพิ่มงบ กลับถูกตัดไป 72 ล้านบาท เหลืออยู่ที่ 532 ล้านบาท เฉลี่ยแล้ว เด็กด้อยโอกาส เหลืองบอยู่เพียงคนละ 15,657 บาท ลดลงคนละ 2,781 บาท ในส่วนงบด้านการป้องกันประเทศ ถูกปรับลดลง 10,383 ล้านบาท คิดเป็น 4.9% แต่งบสาธารณสุข และงบการศึกษา กลับถูกปรับลดลงมากกว่า งบสาธารณสุขที่จำเป็นมากๆ ต่อชีวิตของประชาชนกลับถูกปรับลดลงถึง 37,207 ล้าน คิดเป็น 10.8% งบการศึกษา ที่เป็นงบของอนาคตของประชาชน ถูกปรับลดลงถึง 26,524 ล้าน คิดเป็น 5.5%
ทั้งนี้ วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากที่ได้อภิปรายไปทั้งหมด งบประมาณปี 2565 ภายใต้นายกรัฐมนตรีที่ไร้สามัญสำนึก อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นงบประมาณที่ไม่คำนึงถึงชีวิตของประชาชน ไม่มีความหวังให้กับอนาคตของชาติ ในสถานการณ์ที่ประชาชนต้องเผชิญกับความยากลำบาก พรรคก้าวไกลขอยืนยันว่าไม่อาจที่จะรับได้ และขอเรียกร้องรัฐบาลที่ไร้จิตสำนึกชุดนี้ลาออก.
“วิโรจน์” อภิปรายงบ 65 อัดยับรัฐบาลไร้สำนึก ทำล้มเหลว เรียกร้องลาออก - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment