สถานการณ์ที่ไทยกำลังเจออยู่นี้ถือเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายก็ได้ แต่ก็ถือเป็นความประมาทของรัฐบาลและประชาชนได้เหมือกัน นี่คือสิ่งที่รัฐบาลและคนไทยต้องทำและต้องคิด ไม่ใช่แค่รับมือกับวิกฤตตอนนี้ แต่เพื่ออนาคตของประเทศด้วย
ตอนนี้มีเสียงวิจารณ์ ตำหนิ ด่าทอรัฐบาลดังกึกก้องไปทั่ว อย่างน้อยๆ ก็ในโลกโซเชียลมีเดีย เสียงเหล่านั้นเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกก็มี หรือเรียกร้องให้ล็อคดาวน์ก็มี แต่เมื่อผู้เขียนลองตรวจดูคร่าวๆ แล้วรัฐบาลเจอก้อนหินทั้งจากฝ่ายเชียร์และไม่เชียร์รัฐบาลไม่ว่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
เอาเรื่องแรกก่อน คือปัญหาของการล็อคดาวน์หรือไม่ล็อคดาวน์ดี?
รัฐบาลอาจคิดถูกที่ไม่ทำการล็อคดาวน์แบบสมบูรณ์แบบ เพราะมันจะทำให้คนนับล้านคนไม่มีงาน ไม่มีกิน และไม่มีอนาคตเหลืออีกต่อไป
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า การล็อคดาวน์ในโลกเรามี 2 รูปแบบ คือ 1. ล็อคดาวน์เต็มรูปแบบโดยไม่ให้มีความเคลื่อนไหวใดๆ ที่เกินความจำเป็น 2. ล็อคดาวน์แบบครึ่งหนึ่งเพื่อประคองเศรษฐกิจไม่ให้พินาศ
การล็อคดาวน์แบบเต็มที่มักจะได้ผลในประเทศที่มีระเบียบเข้มงวดสุดๆ แบบจีน ประเทศที่ทำการล็อคเต็มที่แต่เชื่องช้าและไม่เด้ดขาด มักจะล้มเหลว ในกรณีของสหราชอาณาจักรมีการล็อคดาวน์เมื่อปีที่แล้วปรากฎว่าแทนที่จะประกาศเลย รัฐบาลดันประกาศล่วงหน้าเป็นอาทิตย์ ทำให้ประชาชนแห่กันไป "เสพสุข" ตามผับตามบาร์เพื่อทิ้งทวน สถานที่ที่เสี่ยงกับการแพร่เชื่ออย่างที่สนุกของคนกลางคืนแบบนี้ควรจะปิดไปก่อนเลยจะดีกว่าในช่วงชี้เป็นชี้ตาย
ส่วนการล็อคดาวน์แบบกึ่งๆ มักจะไม่ได้ผลเต็มที่ มันช่วยสยบการระบาดได้ระยะหนึ่งก่อนที่จะเกิดเวฟต่อๆ ไป การล็อคแบบนี้ทำขึ้นเพื่อประคองเศรษฐกิจเอาไว้แต่ต้องมีเป้าหมายเรื่องการฉีดวัคซีนที่ชัดเจน ในกรณีของประเทศไทยเราพยายามประคองเศรษฐกิจเอาไว้และมันได้ผลเมื่อปีที่แล้ว จนกระทั่งเราเจอกับเชื้อกลายพันธุ์เข้า
รัฐบาลเลือกที่จะรักษาเศรษฐกิจไว้เหมือนเดิมซึ่งบางคนบอกว่าเป็นการเอื้อนายทุน แต่ผู้เขียนคิดว่ามันย่อมเอื้อแน่นอน แต่นายทุนคือฟันเฟืองหลักของเศรษฐกิจ นายทุนย่อมเป็นผู้จ้างงานและกระจายการลงทุน การประคองเศรษฐกิจพร้อมๆ กับล็อคดาวน์ครึ่งเดียว ช่วยให้คนนับล้านไม่ต้องตกงานหรือยังขายของต่อไปได้
การล็อคดาวน์โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบเศรษฐกิจนั้นมีผลร้ายแรงพอๆ กับการไม่ล็อคดาวน์ แม้ว่าการล็อคดาวน์เต็มที่จะหยุดการกระจายของโรคได้ แต่มันจะทำให้คนตกงานไม่มีอันจะกิน ในที่สุดมันจะทำให้คนอับจนหนทางจนต้องฆ่าตัวตาย
อย่าลืมว่าประเทศไทยมีอัตราฆ่าตัวตายสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ในอาเซียนและสูงที่สุดอันดับที่ 32 ของโลก เฉพาะ 6 เดือนแรกของปีที่แล้วอัตราฆ่าตัวตายพุ่งขึ้นมาถึง 22% ปีนี้จะอีกเท่าไรก็ไม่รู้?
รัฐบาลไทยจึงต้องใคร่ครวญให้ดีก่อนที่จะใช้มาตรการอะไรออกไป แต่จะต้องรีบใคร่ครวญสักหน่อย เพราะประชาชนบ่นว่าเชื่องช้าไม่ได้ดั่งใจซึ่งรัฐบาลมีอาการแบบนั้นจริงๆ
ถ้าไม่ล็อคดาวน์ รัฐบาลจะต้องใช้ไม้โหดกับผู้ละเมิดกฎระเบียบทุกข้อที่มีไว้ป้องกันการระบาด ไม่ว่าจะเป็นพวกเล่นการพนัน ซ่องสุมกินเหล้า หรือจับกลุ่มทำอะไรต่อมิอะไรในช่วงนี้ ให้ใช้ระวางโทษสูงสุดไปเลย และประกาศการลงโทษให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับรู้เพื่อมิให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง
รัฐบาลไม่ต้องกลัวว่าจะถูกด่าว่าอำนาจนิยมหรือเป็นเผด็จการ เพราะประชาชนส่วนหนึ่งเขาคิดว่าชอบธรรมแล้วที่จะด่าเนื่องจากรัฐบาลมีจุดเริ่มต้นมาจากการทำรัฐประหาร หน้าที่ของรัฐบาลตอนนี้ไม่ใช่มาเกรงใจเรื่องการเมือง แต่ต้องตั้งใจแก้วิกฤตโรคระบาด ยิ่งถ้าใช้กฎหมายอย่างชอบธรรมเพื่อรักษาชีวิตคนแล้ว ไม่ต้องกลัวว่าประวัติศาสตร์จะจารึกว่าเป็นรัฐบาลบ้าอำนาจ
เพราะปัญหาของประเทศไทยทั้งก่อนระบาดใหญ่และระหว่างระบาดครั้งนี้เกิดขึ้นจาก "บางคน" ที่ไร้ระเบียบวินัย ไร้จิตสำนึก ทำให้คนนับพันนับหมื่นซวยไปด้วย ต้องมีคนตายมากมายเพราะโควิดอย่างไม่เคยมีมาก่อน
สร้างความคับแค้นใจให้ประชาชนอย่างไม่รู้จะบรรยายออกมาเป็นตัวหนังสืออย่างไร!
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "คนใกล้ชิด" ของรัฐบาล จะมามัวโอบอุ้มเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการเมืองไม่ได้
เพราะหากปล่อยเอาไว้พล.อ. ประยุทธ์อาจจะรักษารัฐบาลพรรคร่วมเอาไว้ได้ แต่คลื่นความไม่พอใจของประชาชนจะเป็นตัวโค่นรัฐบาลประยุทธ์เสียเอง
นับตั้งแต่ "เวฟที่สอง" แล้วที่รัฐบาลถูกมองว่าเป็นรัฐบาลเล่นพรรคเล่นพวก ปล่อยให้ผลประโยชน์ใต้ดินทำให้เกิดการระบาดไปทั่ว ปัญหาครั้งนั้นยังไม่ทันสะสางก็ดันมามีเวฟที่สามขึ้นอีก แม้จะไม่ใช่เพราะวงศ์วานอำนาจ/ผลประโยชน์ของรัฐบาลที่ทำให้เกิดเรื่องพวกนี้ แต่คนก็ยังมองว่า "กรณีไนท์คลับทองหล่อ" นั้นเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล
นอกจากกรณีที่เป็นตั้นธารการระบาดแล้ว ยังมีเหตุมาจากบางคนไร้สำนึกไร้วินัย ปิดบังไทม์ไลน์ทำให้แพทย์ต้องถูกกักตัว เสียบุคคลากรที่ต้องสู้รบกับไวรัสเข้าไปอีก บางกรณีตรวจเชื้อแล้วยังไปเถลไถลสังสรรค์ต่อ ทำให้ตำรวจที่ไปจับกุมต้องกักตัวไปอีก
พวกไม่มีวินัยแบบนี้ทำให้คนร่วมชาติต้องเจ็บป่วยล้มตาย จะละมุนละม่อมด้วยไม่ได้เด็ดขาด
รัฐบาลจะต้องมองจีนเป็นตัวอย่างในการลงโทษผู้ละเมิดกฎ ในเวลาไล่เลี่ยกับที่เรากำลังกังเวลเรื่องผู้อพยพเมียนมาจะพาไวรัสเข้ามาด้วย จีนซึ่งเจอปัญหาเดียวกับเราและเจอการระบาดที่เมืองชายแดนด้วยซ้ำ สั่งล็อคเมืองรุ่ยลี่ในทันทีและลงดาบปลดพ่อเมืองรุ่ยลี่แบบไม่ต้องโยกเข้ากรุให้เสียเวลา
การลงโทษผู้ละเมิดกฎระเบียบย่อมต้องทำอยู่แล้วและทำกันในทุกประเทศ แต่การใช้ไม้แข็งไม่ได้ผลเพราะการลงโทษทำเป็นกรณีๆ ๆไป จะต้องประชาสัมพันธ์ให้คนทั้งประเทศได้รับรู้แบบ "เชือดไก่ให้ลิงดู" หลายๆ กรณี จะทำเป็นใจดีมีเมตตาไม่ได้ เพราะสถานการณ์แบบนี้ไม่ควรใช้ "พระคุณ" แต่ต้องใช้ "พระเดช"
อย่างอินเดียนั้นช่วงล็อคดาวน์ครั้งแรกเจ้าหน้าที่ใช้พระเดชอย่างหนักมือ เป็นข่าวทั่วโลกว่าตำรวจใช้ไม้หวดประชาชนที่ละเมิดกฎล็อคดาวน์กันเลยทีเดียว หลังจากนั้นดูเหมือนว่าอินเดียจะเอาอยู่ จนกระทั่งรัฐบาลอยากจะใช้ "พระคุณ" กับประชาชนด้วยการปล่อยให้ฉลองเทศกาลและทำพิธีทางศาสนา และรัฐบาลยังใช้พระคุณกับตัวเองเพื่อฉวยโอกาสหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลาที่โรคกำลังระบาดขึ้นมาอีก
ผลก็อย่างที่เราเห็น อินเดียกลายเป็นนรกบนดินไปเรียบร้อยแล้ว
อีกอย่างก็คือคนเริ่มกลัวอดตายมากกว่ากลัวติดโรคตาย ดังนั้น รัฐบาลจะต้องทำให้ประชาชน "กลัวตาย" ให้ได้ เพราะการไม่กลัวตายคนเดียวอาจทำให้คนอีกนับร้อยนับพันติดโรคตายไปด้วย
ทำไมประชาชนไม่กลัวโควิด-19 มากพอ? เพราะพวกเขาถูกห้อมล้อมด้วยข่าวปลอมและข้อมูลที่บิดเบือน ซึ่งนั่นยังไม่ร้ายเท่ากับความพยายามของคนบางกลุ่มที่ดิสเครดิตทีมแพทย์ ด่าว่าบุคคลากรสาธารณสุขอย่างไร้เหตุผล
ไม่มีอะไรร้ายแรงไปกว่าการไม่เชื่อผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือการทำให้ทีมแพทย์เสียความชอบธรรมไปโดยผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องการแพทย์ด้วยซ้ำ
รัฐบาลจะต้องทำแบบสิงคโปร์และจีนในการลงโทษพวกปล่อยข่าวปลอมอย่างเด็ดขาด สิงคโปร์นั้นจริงจังกับกฎหมายราบปรามขาวปลอมอย่างมากแม้จะถูกชาติตะวันตกโจมตีว่าริดรอนสิทธิมนุษยชน แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของสิงคโปร์ K. Shanmugam กล่าวกับ Reuters ว่าจะต้องใช้กฎหมายเล่นงานโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม เพราะมักจะปล่อยให้ข่าวปลอมระบาดโดยเห็นแก่ผลกำไรมากว่าหลักการความถูกต้อง
รัฐบาลจะต้องจริงจังกับการกำจัดข่าวลือเรื่องโรคระบาดแบบใช้กำปั้นเหล็กเข้าขยี้แบบเดียวที่จีนเคยทำ ต้องทำให้บริษัทโซเชียลมีเดียต่างชาติยำเกรงกฎหมายของไทยให้ได้ ก่อนที่สังคมจะอลหม่านไปกว่านี้ แต่รัฐบาลจะต้องไม่ทำแบบจีนด้วยการปิดปากผู้วิจารณ์ในทางสร้างสรรค์ซึ่งถูกดำเนินคดีไปแล้วบางคน และบางคนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับการปิดปากเรื่องข่าวจริงเรื่องการระบาดไปอย่างนายแพทย์หลี่เหวินเลี่ยง
และรัฐบาลควรดูตัวอย่างอินเดียที่ขอความร่วมมือกับ Twitter ในการลบทวีตที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลไทยจะต้องไม่ทำแบบนั้น รัฐบาลจะต้องฟังเสียงวิจารณ์ที่เป็นเหตุเป็นผลและไม่แทรกแซงโซเชียลมีเดีย "ยกเว้น" ว่ามันกำลังเป็นเป็นที่ปล่อยข่าวปลอมและการวิจารณ์ที่มั่วซั่ว รัฐจึงควรจะแทรกแซง
รัฐบาลจะต้องเรียนรู้จากรับฐาลพรรคค BJP ของอินเดียที่ทำแพลตฟอร์มตรวจจับข่าวปลอมจริงจัง แต่จะต้องไม่เลียนแบบพวกเขาที่จริงจับกับข่าวปลอมทางการเมือง แทนที่จะเน้นตรวจข่าวปลอมเรื่องโควิด-19 ในช่วงวิกฤตแท้ๆ เพียงเพราะพวกเขาต้องการชนะการเลือกตั้งในช่วงที่เกิดการระบาดที่หนักที่สุดในโลกพอดี
ไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลไทยจะปล่อยให้ข่าวปลอมระบาดแบบนี้ได้อย่างไร การทำแบบนี้หากเป็นการทำสงคราม "เหมือนกองทัพช่วยกันขุดสนามเพลาะรับมือข้าศึก แต่แล้วประชาชนในประเทศดันกลบสนามเพลาะเสียเอง" ทำให้แนวรบมีช่องโหว่ที่อันตราย
เรื่องนี้เกิดจากการไม่รู้จักแยกแยะของประชาชนบางกลุ่มที่เกลียดชังรัฐบาล เลยพานเกลียดมันหมดทุกอย่าง ทั้งทีมแพทย์ไปจนถึงบ้านเกิดเมืองนอนตัวเอง คนพวกนี้จะใช้โซเชียลมีเดียในการบ่อยทำลายความพยายามสกัดโรคด้วยข้อมูลที่บิดเบือนและมุ่งทำลายเพียงอย่างเดียว
แน่นอนว่าการวิจารณ์ย่อมทำได้ แต่ต้องตั้งอยู่บนความจริงและความจริงใจ เมื่อใดก็ตามที่การวิจารณ์อิงกับความเท็จ เมื่อนั้นกฎหมายควรทำงาน และควรทำอย่างเด็ดขาดด้วยเพราะนี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ
ย้ำอีกครั้งว่าไม่ได้ห้ามด่ารัฐบาล แต่ควรวิจารณ์รัฐบาลอย่างหนักด้วยซ้ำ แต่ระหว่างการด่ากับการวิจารณ์อย่างมีเผตมีผล เชื่อว่ารัฐบาลคงจะฟังอย่างหลังมากกว่า การด่าจึงเปล่าประโยชน์ไป
ในส่วนตัวนายกรัฐมนตรีต้องยอมรับว่ามีปัญหาด้านการสื่อสาร สุนทรพจน์ต่อประชาชนของนายกรับมนตรีหลายครั้งไม่สามารถทำให้ประชาชนพอใจได้ ยังไม่ต้องพูดถึงการพูดที่เร็วจี๋จนจับใจความไม่ได้ และเนื้อความก็ซ้ำซากกับข้อมูลที่ประชาชนรู้อยู่แล้ว
หากนายกรัฐมนตรีไม่สามารถพูดให้ประชาชนอุ่นใจได้ ไม่พูดเลยจะดีเสียกว่า หรือควรพูดแต่น้อยๆ ได้ใจความ และลงมือทำให้ให้คนเห็นมากกว่า หรือ "จะจ้างนักร่างสุนทรพจน์มืออาชีพได้แล้ว" เพราะเกิดหายนะด้านประชาสัมพันธ์ไม่รู้กี่ครั้งแล้ว
หากนายกรัฐมนตรี "คันปาก" อยากจะพูด จะต้องเรียนรู้จากผู้นำมืออาชีพที่รู้จักกล่าวสุนทรพจน์ให้ประชาชนเกิดความหวังไม่ใช่ทำให้เกิดความโกรธเคือง ให้ลองดูสุนทรพจน์ของผู้นำเยอรมนี อังเกลา แมร์เกิล ที่ได้รับเสียงชื่นชมไปทั่วโลกว่าปลุกเร้าให้เกิดแรงใจฮึดสู้ ทั้งๆ ที่ประเทศเยอรมนีในช่วงนั้นพบกับการระบาดที่หนักกว่าไทย แต่ประชาชนไม่ได้แค้นเคืองแมร์เกิลแต่อย่างใด เพราะพวกเขารู้ว่าพวกเขาวางใจในตัวผู้นำได้
การมีผู้นำที่สื่อสารอย่างไม่มีประสิทธิภาพก็เลวร้ายพอๆ กับการมีประชาชนที่เสพติดการแพร่ข้อมูลผิดๆ นั่นเอง
หลังจากวิกฤตนี้ผ่านพ้นไป ผู้เขียนคิดว่าคนไทยต้องการให้ประเทศไทย (ซึ่งหมายถึงทั้งประชาชนไทยและรัฐบาลไม่เฉพาะรัฐบาลประยุทธ์) ลงมือทำคือ
1. ระบบการสั่งการจะต้องมีความเด็ดขาดกว่านี้ การจะให้การสั่งงานที่ลื่นไหลจะต้องอาศัยรัฐบาลเสียงข้างมากหรือผู้นำที่เด็ดขาด ซึ่งตอนนี้ไม่มีทั้งสองอย่าง ในอนาคตคนไทยจะต้องตรึกตรองเรื่องนี้ให้ดี
2. ควบคุมข่าวปลอมให้มีประสิทธิภาพกว่านี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดูจะทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม อย่าว่าแต่ข่าวปลอมเลย ข่าวจริงก็ไม่แพร่หลายเท่าที่ควร หากจะกำจัดน้ำเสียน้ำดีต้องมีมากกว่า ผู้รับผิดชอบควรตระหนักเอาไว้
3. กิจการด้านสาธารณสุขต้องการงบประมาณและแรงจูงใจด้านการเงินมากกว่านี้ ผู้เขียนคิดว่าคนไทยต้องการให้ทีมสาธารณสุขที่กรำศึกครั้งนี้ได้รับการ "ปูนบำเหน็จ" ถ้วนหน้า และควรโยกงบประมาณจากกระทรววงที่ KPI ต่ำมาให้
6. ประเทศไทยต้องหันมาเป็นมหาอำนาจทางการแพทย์ เราเห็นแล้วว่าเมื่อเราไม่มียา ไม่มีวัคซีน พอเกิดเรื่องฉุกเฉินประเทศอื่นระงับส่งยาหรือดีลวัคซีนไม่ทัน ผลมันเป็นอย่างไร?
5. การบังคับใช้กฎหมายจะต้องชัดเจน เด็ดขาด มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ว่ามีการลงโทษผู้ล่วงละเมิดแล้ว หาไม่ประชาชนจะสิ้นหวังกับระบบยุติธรรมและไม่เชื่อว่ามันจะมีน้ำยา ทำให้ละเมิดไปเรื่อยๆ อย่างที่เราเห็นตอนนี้
โดย กรกิจ ดิษฐาน
Photo - Varuth Hirunyatheb/Bangkok Post
ก่อนจะสายเกินไป สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำคือ? - โพสต์ทูเดย์
Read More
No comments:
Post a Comment