ศึกษากฎหมาย กรณีไม่สวมหน้ากากอนามัยตามประกาศจังหวัด หากต้องเสียค่าปรับ 6,000 บาท แต่ไม่มีเงินจ่าย ต้องทำอย่างไร?
วันที่ 27 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถูกปรับเป็นเงิน 6,000 บาท หลังเปิดหน้ากากอนามัย ระหว่างการประชุมที่ปรึกษาเกี่ยวกับการจัดหาและการกระจายวัคซีน
ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืน ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง ให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พำนัก เป็นความผิดตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยนายกรัฐมนตรียินยอมให้เปรียบเทียบปรับตามที่กฎหมายกำหนด
ทำไมนายกฯเสียค่าปรับแค่ 6 พันบาท
ต่อมามีคำถามว่า เหตุใดจึงปรับเงิน พล.อ.ประยุทธ์ เพียง 6,000 บาท ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับสูงสุด 20,000 บาท
เรื่องนี้มีคำตอบ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลตามบัญชีอัตราการเปรียบเทียบแนบท้ายระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบ 2563 ระบุถึงโทษความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ว่า
“มาตรา 51 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 34 (1) (2) (5) หรือ (6), มาตรา 39 (1) (2) (3) หรือ (5), มาตรา 40 (5) หรือไม่อํานวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 39 (5) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท”
มีการจำแนกอัตราค่าปรับใน 2 แบบ
- แบบที่ 1 มาตรา 34 (5) หรือ (6) ครั้งที่ 1 จำนวน 6,000 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 12,000 บาท และตั้งแต่ครั้งที่ 3 เป็นต้นไป 20,000 บาท
- แบบที่ 2 มาตรา 34 (1) (2), มาตรา 39 (1) (2) (3) หรือ (5), มาตรา 40 (5) และมาตรา 39 (4) ปรับในอัตราเดียว 20,000 บาท
ดังนั้น การเปรียบเทียบปรับ พล.อ.ประยุทธ์ เพียง 6,000 บาท นั้น สาเหตุเพราะเป็นความผิดครั้งแรก ซึ่งกำหนดไว้ว่าปรับจำนวน 6,000 บาท อย่างไรก็ตาม หากพบกระทำผิดเป็นครั้งที่ 2 จะปรับมากกว่าเดิม 2 เท่า คือ 12,000 บาท และ ตั้งแต่ครั้งที่ 3 เป็นต้นไป ปรับเต็มจำนวนที่ 20,000 บาท
คนทั่วไปไม่มีเงินเสียค่าปรับ 6 พัน ต้องทำอย่างไร?
มติชนสุดสัปดาห์ อธิบายเรื่องนี้ โดยยกตัวอย่างกรณี ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำตัวผู้ต้องหาคือ พ่อค้าแม่ค้าขายกะทิในตลาดสดแห่งหนึ่ง ที่ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยขณะอยู่นอกเคหสถาน ขัดกับคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด มาให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับ ซึ่งพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 500 บาท
แต่ต่อมา ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 แถลงว่า เป็นความเข้าใจผิดของพนักงานสอบสวน ที่เข้าใจว่ามีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้เอง จึงสั่งปรับเป็นเงิน 500 บาท ทั้งที่จริงต้องปรับ 6,000 บาท จึงให้เพิกถอนการปรับ แล้วให้ส่งฟ้องศาลแทน
ซึ่งคำพิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์วินิจฉัยว่า กรณีนี้เป็นการกระทำความผิด พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 34(6) มีโทษอยู่ที่มาตรา 51
โดยที่มาตรา 34 บัญญัติว่าสาระของการกระทำที่เป็นความผิดไว้ว่า เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ เมื่อเกิดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดหรือมีเหตุสงสัยว่าได้เกิดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดในเขตพื้นที่ใด ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่นั้น มีอำนาจที่จะดำเนินการเองหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ใดดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (6) ห้ามผู้ใดกระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป
สำหรับโทษนั้น ดูที่มาตรา 51 ซึ่งบัญญัติโทษไว้ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 34(6) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
สรุปว่า มีโทษปรับอย่างเดียวไม่เกิน 20,000 บาท ไม่มีโทษจำคุก
กฎหมายนี้ยังบัญญัติไว้ว่า คดีนี้อาจยุติเพียงชั้นเจ้าพนักงานก็ได้ ไม่ต้องไปศาลให้ยุ่งยาก หากผู้ต้องหายินดีชำระค่าปรับ คดีอาญาก็เลิกกัน-จบ ตามมาตรา 57 ที่ระบุว่า บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบที่คณะกรรมการกำหนด
เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
จะเห็นได้ว่า ความผิดตามมาตรา 34(6) อันมีโทษตามมาตรา 51 นั้น มีโทษปรับสถานเดียว สอดคล้องกับมาตรา 57 บัญญัติไว้ ความผิดลักษณะนี้ที่ศาลชั้นอุทธรณ์เคยวินิจฉัยว่าเป็นความผิดนั้น สามารถเปรียบเทียบปรับได้ในชั้นเจ้าพนักงาน ไม่ต้องนำคดีสู่ศาลก็ได้
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่า แล้วทำไมคดีที่อยุธยา ตำรวจต้องคืนค่าปรับ 500 บาท พร้อมกับแถลงว่า พนักงานสอบสวนเข้าใจผิด พนักงานสอบสวนไม่สามารถปรับ 500 บาทได้ แต่ต้องปรับขั้นต่ำ 6,000 บาท ทั้งที่ 500 บาท ก็ไม่เกิน 20,000 บาท
คำตอบต้องกลับไปดูที่มาตรา 57 วรรคสองที่บัญญัติว่า ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่ง “คณะกรรมการ” ในที่นี้ คือ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ (มาตรา 4 พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558)
ในการนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้กำหนดอัตราการเปรียบเทียบไว้ในบัญชีท้าย ระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบ พ. ศ. 2563 โดยกำหนดให้ การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 34(6) ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท มีอัตราค่าปรับกำหนดให้เปรียบเทียบ คือ
- ทำผิดครั้งที่ 1 ปรับ 6,000 บาท
- ทำผิดครั้งที่ 2 ปรับ 12,000 บาท
- ทำผิดครั้งที่ 3 เป็นต้นไป ปรับ 20,000 บาท
คดีที่อยุธยาพนักงานสอบสวนจึงปรับเพียง 500 บาทไม่ได้ ต้องปรับ 6,000 บาท แต่เงิน 6,000 บาท สำหรับผู้ต้องหาบางคนอาจจะเยอะเกินไป เคยได้ยินว่ามีข่าวที่ศาลปรับแค่ 500 บาท ถ้าอย่างนั้นให้ส่งเรื่องไปฟ้องศาลดีกว่า ซึ่งจะเสียเวลาหน่อย เมื่อคดีไปศาลแล้วค่อยไปรับสารภาพเอาที่ศาล
ศาลมีอำนาจมีดุลพินิจกำหนดค่าปรับได้ ไม่ขึ้นกับค่าปรับตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด ผู้ต้องหาอาจเสียค่าปรับต่ำกว่า 6,000 บาท
ส่วนกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ อาจมองว่าการไปศาลนั้นยุ่งยาก เสียเวลา เงินก็มี จ่ายค่าปรับ 6,000 บาท คดีจะได้จบ สบายใจกว่า
ไม่มีเงินเสียค่าปรับ 6,000 บาท กรณีหน้ากากอนามัย ต้องทำอย่างไร? - ประชาชาติธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment