2 เม.ย.64 - ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ แถลงผลการประชุมของ กมธ. ว่า ที่ประชุมได้ทบทวนจำนวนประชาชนเข้าชื่อขอทำประชามติ จากเดิมเมื่อวันที่ 1 เม.ย. มีมติให้ใช้ 1 หมื่นรายชื่อ วันนี้ที่ประชุมลงมติอีกครั้งให้ประชาชนเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นว่าทั้งกรณีรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ หรือภาคประชาชนเป็นผู้เสนอ ก็ยังให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่จะตัดสินใจทำหรือไม่ทำประชามติ โดยให้พิจารณาถึงเรื่องงบประมาณและเหตุแห่งความจำเป็นที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้นำมาประกอบการพิจารณาในการทำประชามติแต่ละครั้ง
นายวันชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้พิจารณาตกลงกันแล้ว เสียงส่วนใหญ่มีความเห็นให้แก้ไขปรับปรุงมาตรา 10 และ 11 ให้สอดรับ และการแก้ไขเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย ขอยืนยันว่าที่หลายฝ่ายวิตกกังวลว่า กฎหมายฉบับนี้จะตกไปนั้น เท่าที่พิจารณามาทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่น่าจะมีปัญหา โดยกฎหมายฉบับนี้จะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 7 เม.ย. และคิดว่าการพิจารณาในที่ประชุมจะผ่านไปได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อ ครม. แล้ว มีกรอบเวลากำหนดหรือไม่ว่าครม.จะต้องพิจารณาตรวจสอบโดยใช้เวลาเท่าใด เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่า ครม.สามารถใช้ช่องทางนี้เตะถ่วงได้ นายวันชัย กล่าวว่า หลักเกณฑ์และวิธีการที่ กมธ. กำหนด ตามมาตรา 9(5) แปลว่าหลักเกณฑ์ และวิธีการต่างๆให้เป็นอำนาจของ กกต. ฉะนั้นเมื่อยื่นไป ยังครม.แล้ว จะใช้เวลาเท่าไหร่ เป็นรายละเอียดที่ กกต. ต้องเป็นผู้กำหนด กมธ.เพียงแค่กำหนดว่าไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อเท่านั้น ส่วนคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม และการถูกจำกัดสิทธิต้องเป็นไปตามที่กฎหมายฉบับนี้กำหนด
เมื่อถามว่าถ้าเรื่องนี้มีประเด็นทางการเมืองเข้ามา ครม. อาจจะมีมติไม่ดำเนินการได้ใช่หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาว่า ครม. ไม่ได้หมายถึง ครม.ชุดนี้เท่านั้น เป็นเรื่องของ ครม. ชุดต่างๆไม่ว่าจะใช้สมัยใดก็ต้องใช้กฎหมายฉบับนั้น ครม.ต้องฟังเสียงของรัฐสภา เพราะครม.ก็มาจากรัฐสภาด้วย แต่ ครม.จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ต้องให้อำนาจ เพราะเขาเป็นผู้ใช้งบประมาณ แต่ในการตัดสินใจก็ต้องฟังเสียงรัฐสภากับประชาชนเป็นสำคัญ
ถามว่า ในมาตรา 9 มีการระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าเมื่อประธานรัฐสภาแจ้งให้นายกฯทราบแล้วให้ประกาศในราชกิจจาฯ เลย ตรงนี้จะไปย้อนแย้งกับการพิจารณาของ กมธ. ที่ให้นำเข้า ครม. เพื่อตัดสินใจอีกครั้งหรือไม่ นายวันชัย อธิบายว่า กมธ. พิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้สอดรับกันแล้ว โดยปรับมาตรา 10 และ 11 ให้สอดรับ และดำเนินการตามมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หากทำตามที่มาตรา 9 ระบุไว้เป๊ะๆเลยจะทำไม่ได้ เพราะจะขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงเขียนมาตรา 11 มาให้สอดรับกัน
ถามย้ำถึงความมั่นใจว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่มีปัญหา นายวันชัย กล่าวว่า ไม่มี ซึ่งตรงนี้ทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน และยอมรับได้ ไม่มีปัญหาอะไร เพราะทุกคนอยากให้กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้โดยคำนึงถึงรัฐธรรมนูญและประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
เคาะใหม่ ปชช. 50000 ชื่อเสนอทำประชามติ แต่ 'ครม.' มีอำนาจตัดสินใจ - ไทยโพสต์
Read More
No comments:
Post a Comment