ในช่วงสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา หลายธุรกิจได้ปรับเปลี่ยนพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ที่ฮือฮาอย่างมากคงหนีไม่พ้นการเพาะขายไม้ด่าง หรือพันธุ์ไม้หายาก และหลายคนหันไปทำอาชีพเกษตร ทำสวน จนเกิดเป็นรายได้ที่มั่นคง ในวาระที่เครือมติชนฉลองการดำเนินงานครบ 34 ปี “เทคโนโลยีชาวบ้าน” สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้จัดสัมมนาเกษตรออนไลน์แห่งปี! หัวข้อ “ทางรอดเกษตรกรยุคโควิด” ผ่าน Live Streaming เฟซบุ๊กเพจเทคโนโลยีชาวบ้าน และเฟซบุ๊กเพจในเครือมติชน เพื่อให้ความรู้ เป็นแนวคิด แนวทาง แขร์ประสบการณ์และนำไปปรับใช้ในธุรกิจเกษตร
พลิกวิกฤตเป็นโอกาสเพาะขายไม้ด่าง
นายพงษ์พันธ์ เปี่ยมมนัส เกษตรกรผู้ปลูกไม้ด่าง เจ้าของ “บ้านสวนไม้ด่างกลางนา” อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า เดิมที่ทำงานเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าเกาหลี เเต่เนื่องจากเกิดการระบาดโควิด จึงใช้เวลาอยู่กับการศึกษาไม้ด่าง เริ่มจากความสนใจ และเป็นคนที่รักต้นไม้ จึงศึกษาผ่านยูทูบ โซเชียลมีเดียทุกช่องทาง หลังจากนั้นจึงเริ่มสั่งซื้อนำเข้ามาเอง และซื้อ ผ่านตลาดออนไลน์ เมื่อเห็นโอกาสบวกกับใจรักและเป็นจังหวะที่ราคาเริ่มขึ้นจึงปลูกขยายพันธุ์เอง แล้วเริ่มขายผ่านออนไลน์
ปัจจุบันตลาดนี้ส่วนตัวมองว่าไม้ในไทยมีความต้องการสูง คนสนใจเยอะ จึงขาดตลาด แต่สำหรับธุรกิจนี้ต้องมีใจรัก คนที่เป็นมือใหม่ต้องศึกษาให้ถี่ถ้วน ว่าไม้ด่างที่เห็นเป็นไม้ด่างจริง ๆ หรือเกิดจากโรค เพื่อที่ว่าจะได้ดูไม้เป็นและหาซื้อไม้ที่มีคุณภาพ หรือเพื่อนำมาขยายพันธุ์ทำตลาด ทำรายได้
“การทำไม้ด่าง บางครั้งก็เหมือนการเล่นหุ้น ไม้ด่างราคามีขึ้นลงตลอดเวลา หรือบางช่วงราคาปรับข้ามคืนเลย เราต้องลุ้นตลอดเวลา จากประสบการณ์ครั้งแรก เราเน้นทำต้นที่ราคาไม่แรง จากนั้นก็ค่อย ๆ พัฒนาตัวเอง มันก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า เราต้องหมั่นศึกษาตลอดเวลา ก็จะยิ่งทำให้เราประสบความสำเร็จ”
สำหรับการขายไม้ด่างนั้นจะเน้นราคาอยู่ที่จำนวนใบเป็นหลัก เช่นไม้ใบด่างมีราคาอยู่ที่ 10 ใบ ใบละ 10,000 บาท และไม้ด่างต้นสามารถสร้างรายได้ถึง 100,000 บาท และมากขึ้น ๆ ทั้งนี้ ราคาไม้ด่างที่จำหน่ายมีหลากหลายราคา เริ่มจากไม้ด่างเงินไหลมาราคาเริ่มต้นอยู่ที่ราคา 500 บาท กลุ่มไม้พันธุ์นี้ยิ่งนานมาก ก็ยิ่งมีราคา
จากธุรกิจอัญมญีสู่วงการกล้วยด่าง
นายนิรินาทย์ เธียรวรโชค เจ้าของสวน The Lord of the Garden สวนเดอะลอร์ด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทำธุรกิจค้าอัญมณี แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศไม่สามารถเข้ามาทำการซื้อขายกับทางร้านได้ จึงได้ใช้เวลาว่างจนเจอกล้วยด่างในยูทูบ จากนั้นจึงสนใจ กลายเป็นความชอบ ความหลงใหล จึงได้เริ่มศึกษาและเข้าสู่วงการกล้วยด่าง จนถึงปัจจุบัน
“กล้วยด่างแดงอินโดมีเสน่ห์น่าหลงใหลเหมือนได้กลับไปเจียระไนอัญมณีอีกครั้ง เพราะกล้วยด่างแต่ละต้นจะมีลวดลาย สีสันที่แตกต่างกันออกไป เหมือนกับอัญมณีที่แต่ละเม็ดที่จะมีลักษณะรูปทรง และสีที่แตกต่างกันและมีความพิเศษ”
เปิดโฮมสเตย์ชูจุดขายเกษตรธรรมชาติสร้างรายได้เสริม
นายอิศรากรณ์ พลธรรม Young Smart farmer จังหวัดเลย กล่าวว่า การทำเกษตรในปัจจุบันถือคติที่ว่า ถ้าอยากทำเกษตรให้ก้าวหน้าและยั่งยืน จะต้องทิ้งตำราแบบเดิม ๆ เราจะไม่ปลูกก่อนแล้วหาตลาด ต้องศึกษาหาตลาดก่อนปลูก และเลือกปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ ตอนนั้นก็จึงเริ่มต้นจากการเปลี่ยนไร่เลื่อนลอยของพ่อแม่มาปลูกมันเทศญี่ปุ่นสีส้มส่งสหกรณ์แก้วเกษตร ปลูกสลับหมุนเวียน แบ่งพื้นที่ปลูกเดือนละ 1 ไร่ แล้วบริหารจัดการพื้นที่เพื่อให้มีผลผลิตส่งสหกรณ์ให้ได้เดือนละ 2 ครั้ง
ต้นทุนการปลูกคิดเป็นครึ่งต่อครึ่งของรายได้ 1 เดือน ขายมันเทศได้เงิน 60,000 บาท แล้วเริ่มมองหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่ม ด้วยการดูออร์เดอร์ที่ทางสหกรณ์ต้องการ แต่ผลผลิตยังขาด จะมีกะหล่ำปลี ข้าวโพดหวานและมองต่อว่าพืชตัวไหนเหมาะสมกับพื้นที่ ก็คือ กะหล่ำปลี จึงเกิดเป็นการปลูกผสมผสาน ไม่พึ่งพาพืชเชิงเดี่ยว
“เมื่อก่อนที่บ้านทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำนา มีรายได้ไม่แน่นอน จึงปรับเปลี่ยนหันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน วางแผนการปลูกพืชให้ตรงต่อความต้องการของตลาด ผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน เพื่อการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาถือว่าได้รับผลกระทบน้อยมาก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่ที่การปรับตัว ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว เปิดโฮมสเตย์ให้กับคนรักธรรมชาติ หรือคนที่ชอบนอนกางเต็นท์ดูดาวมาสักพักแล้ว โดยที่สวนตอนนี้สามารถรับนักท่องเที่ยวได้สูงสุดวันละ 20 คน”
GAP เกษตรปลอดภัยมาตรฐานสากล
ด้านอาจารย์บ้วน-ผศ.อดิศักดิ์ บ้วนกียาพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการของ บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) (ปุ๋ยตราหัววัว-คันไถ) บรรยายพิเศษ “เทคนิคปรับปรุงดินอย่างง่ายปลูกอะไรก็งาม และดูแลผลผลิตอย่างไรให้ได้มาตรฐาน GAP” ว่า เป้าหมายสำคัญของการทำเกษตร คือเรื่อง เกษตรปลอดภัย หรือ Good Agricultural Practices (GAP) ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย หน่วยงานภาครัฐเอกชนสนับสนุนให้เกษตรกร สามารถดูแลตรวจสอบกลับได้ตั้งแต่การปลูกดูแล ให้ปุ๋ย ให้น้ำ การเก็บเกี่ยว การขนส่งสินค้าถึงตลาดปลายทาง
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องปรุงดินตามต้องการของพืชแต่ละชนิด ด้วย 4 องค์ประกอบพื้นฐาน ได้แก่ 1.ปรับโครงสร้างดินเพื่อให้รากพืชหากินได้สะดวก มีน้ำ อากาศอยู่ในดิน 2.ดินต้องมีธาตุอาหารครบ 16 ชนิดที่พืชต้องการ 3.ดินมีความเป็นกลาง 4.ดิน ต้องปลอดเชื้อโรค
“จริง ๆ แล้วเกษตรกรบางคนปลูกพืชใส่ปุ๋ยบำรุงดินไปอย่างเดียว นานไปจุลินทรีย์ย่อย อินทรีย์วัตถุหมด ดินแน่นขึ้น คนด่าปุ๋ยเคมีไม่ดี ทำให้ดินเสีย ความจริงแล้ว ปุ๋ยเคมีใส่ไป เป็นอาหารของจุลินทรีย์ ๆ ก็ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุ ต้องไปด่าคนทำไม่ใช่มาบอกว่า ปัจจัยการผลิตไม่ดี”
ส่องทางรอดเกษตรกรยุคโควิด "ไม้ด่าง" ทำเงิน-อัพเกรดเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์ม - ประชาชาติธุรกิจ
Read More